เกี่ยวกับ กบข.
โครงสร้างองค์กร
สถิติสำคัญ
หน้าหลัก
ตำแหน่งที่เปิดรับ
กรอกใบสมัคร
สรุปผลการจัดซื้อ-จัดจ้าง
วิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศจำหน่ายทรัพย์สิน
MCS Web
แบบฟอร์ม
งาน กบข.
กิจกรรมต่าง ๆ
ภาพเกี่ยวกับ กบข.
ประวัติกองทุน

ในปี พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการเป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central Provident Fund) นำมาสู่การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โดยกำหนดให้ข้าราชการที่รับราชการก่อนวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ คือวันที่ 27 มีนาคม 2540 สามารถเลือกได้ว่าจะสมัครเป็นสมาชิก กบข. หรือไม่ สำหรับข้าราชการที่เข้ารับราชการหลังวันดังกล่าว ต้องเข้าเป็นสมาชิก กบข. ทุกคนตามที่กฎหมายกำหนด

ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. เมื่อออกจากราชการ หรือ เกษียณอายุราชการ จะได้รับเงินก้อน กบข. และบำเหน็จหรือบำนาญจากส่วนราชการเจ้าสังกัด ซึ่งเงินก้อน กบข. เป็นส่วนผสมระหว่างเงินออมของสมาชิกกับ เงินสมทบและเงินชดเชยจากบำนาญจากรัฐ และผลประโยชน์จากการลงทุนที่ กบข. บริหารจัดการให้

  1. เป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ
  2. ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก
  3. จัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก

กบข. เป็นองค์กรที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ กบข. ไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และรายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ กบข. เป็นผู้กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งการจัดการกองทุน โดยมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้สอบบัญชี

  1. ด้านลงทุน : นำเงินที่รับจากสมาชิกและส่วนราชการไปลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายและนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด
  2. ด้านสมาชิก : ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารฐานข้อมูลสมาชิก การจัดสรรผลประโยชน์จากการลงทุน การประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่สมาชิก รวมถึงการจ่ายเงินและผลประโยชน์คืนให้แก่สมาชิกเมื่อพ้นสมาชิกภาพ

เงินของกองทุนประกอบด้วย

  1. เงินสะสม คือ เงินออมของสมาชิก ส่วนราชการจะทำการหักจากเงินเดือนของสมาชิกเพื่อนำส่ง กบข. เพื่อนำเข้าบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือน ปัจจุบันกฎหมายกำหนดอัตราเงินสะสมขั้นต่ำร้อยละ 3 ของเงินเดือนสมาชิกออมเพิ่มได้เมื่อรวมกับเงินสะสมขั้นต่ำต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินเดือน
  2. เงินสมทบ คือ เงินที่รัฐจ่ายสมทบให้กับสมาชิกที่ออมเงินสะสม ส่วนราชการจะเป็นผู้เบิกจากงบประมาณรายจ่ายของรัฐในอัตราที่เท่ากับอัตราเงินสะสมขั้นต่ำ (ร้อยละ 3 ของเงินเดือน) ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือนนำส่ง กบข. เพื่อนำเข้าบัญชีรายบุคคลของสมาชิก
  3. เงินประเดิม คือ เงินที่รัฐส่งเข้าบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกที่รับราชการอยู่ก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก กบข. ตามสูตรที่กำหนด และให้ กบข. จ่ายเงินดังกล่าวออกให้แก่สมาชิก เมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพและเลือกรับบำนาญ
  4. เงินชดเชย คือ เงินที่รัฐจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายของรัฐเข้าบัญชีรายบุคคลของสมาชิก ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือน ในอัตราร้อยละ 2 ของเงินเดือน และให้ กบข. จ่ายเงินดังกล่าวออกให้แก่สมาชิก เมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพและเลือกรับบำนาญ
  5. เงินสมาชิกพ้นสมาชิกภาพ คือ เงินของสมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพได้แจ้งความประสงค์ให้กองทุนบริหารเงินต่อหรือขอทยอยรับ โดยกองทุนจะบริหารเงินที่ยังไม่ได้ขอรับคืนต่อไปได้
  6. เงินสำรอง คือ เงินที่รัฐจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายของรัฐส่งเข้าบัญชีเงินสำรองที่ กบข. เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการจ่ายบำเหน็จบำนาญให้แก่ข้าราชการ ในกรณีเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐอาจตราพระราชกฤษฎีกาสั่งให้ กบข. นำเงินสำรองส่งกลับคืนเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อรัฐนำไปจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และรัฐต้องจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อชดเชยส่วนที่นำออกไปคืน กบข. ในปีงบประมาณถัดไป

    ทั้งนี้ รัฐต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการประจำปี เข้าบัญชีเงินสำรองทุกปีจนกว่าเงินสำรอง เงินกองกลาง และดอกผลของเงินดังกล่าวจะมีจำนวน 3 เท่าของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการประจำปี หลังจากนั้นให้ตั้งงบประมาณเพื่อให้เงินสำรอง เงินกองกลาง และดอกผล คงระดับ 3 เท่าของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการในแต่ละปี แต่หากมีจำนวนเกิน 3 เท่า ให้ กบข. นำเงินส่วนที่เกินนั้นส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

  7. เงินกองกลาง คือ เงินบริจาค เงินตามบัญชีเงินรายบุคคลที่ไม่มีผู้รับ เป็นเงินส่วนกลางที่มิใช่ของสมาชิกคนใด

ข้าราชการที่เข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2540 ทุกคน รวมถึงผู้ซึ่งโอนมาเป็นข้าราชการตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2540 ทุกคนต้องเป็นสมาชิกและส่งเงินสะสมเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

ข้าราชการที่รับราชการอยู่ก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 ให้สมัครเป็นสมาชิกและส่งเงินสะสมได้ตามความสมัครใจ

สมาชิก กบข. ประกอบด้วยข้าราชการ 13 ประเภท
  1. ข้าราชการพลเรือน
  2. ข้าราชการฝ่ายตุลาการ
  3. ข้าราชการฝ่ายอัยการ
  4. ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและพนักงานมหาวิทยาลัย
  5. ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  6. ข้าราชการรัฐสภาสามัญ
  7. ข้าราชการตำรวจ
  8. ข้าราชการทหาร
  9. ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
  10. ข้าราชการตุลาการศาลปกครอง
  11. ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
  12. ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  13. ข้าราชการในพระองค์