บริการสมาชิก
บริการดิจิทัล
แผนการลงทุน
ออมเพิ่ม
ออมต่อ
สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก
ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน
ความรู้คู่การออม
ปฏิทินกิจกรรม
วารสาร กบข.
แบบฟอร์มต่างๆ
คู่มือหรือมาตรฐานการให้บริการ
หน้าหลัก
ตำแหน่งที่เปิดรับ
กรอกใบสมัคร
สรุปผลการจัดซื้อ-จัดจ้าง
วิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศจำหน่ายทรัพย์สิน
MCS Web
แบบฟอร์ม
งาน กบข.
กิจกรรมต่าง ๆ
ภาพบริการสมาชิก

บริหารเงินหลังเกษียณอย่างไรให้เพียงพอ




           


เมื่อถึงวันเกษียณหลายท่านคงมีความกังวลใจไม่น้อย โดยเฉพาะรายได้ที่ลดลงหรือไม่มีรายได้อีกแล้ว แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เงินที่เก็บออมมาตลอดชีวิตการทำงานก็ไม่รู้ว่าจะเพียงพอให้ใช้จ่ายไปจนถึงวันสิ้นอายุขัยได้หรือไม่ ดังนั้นขอแนะนำสำหรับผู้เกษียณแล้วหรือกำลังจะเกษียณในอีก 1 ปีข้างหน้า ควรรีบวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ เริ่มจากรวบรวมแหล่งเงินออมที่มี เช่น บัญชีเงินฝากประเภทต่างๆ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบนำนาญ กองทุนรวมทั่วไป กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฯลฯ เพื่อให้รู้ว่าเงินออมมีทั้งหมดเท่าไหร่ และจะทยอยถอนออกมาอย่างไรให้สามารถใช้ได้ในยามเกษียณจนสิ้นอายุ

 

เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ถอนมากใช้หมดก่อนและช่วยกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนไม่ให้ใช้มากเกินไป ควรวางแผนถอนใช้เงินอย่างเหมาะสม สมมุติว่า หากต้องการใช้ตั้งแต่เกษียณที่อายุ 60 ปี อยากใช้จนถึงสิ้นอายุขัยที่อายุ 80 ปี (อ้างอิงอายุขัยเฉลี่ยคนไทย) รวมเวลาที่จะต้องใช้เงิน 20 ปี หากมียอดเงินออม ณ วันเกษียณ 1,200,000 บาท ก็ควรถอนมาใช้ไม่เกินปีละ 60,000 บาทหรือไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท (ยอดเงิน ณ วันเกษียณ หาร จำนวนปีที่ต้องการใช้ = จำนวนเงินที่ควรถอนใช้ต่อปี )

 

แต่ทั้งนี้ควรพิจารณาถึงภาวะเงินเฟ้อหรือภาวะที่ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีประกอบด้วย ซึ่งการถอนเงินใช้เท่ากันทุกปีคงไม่สามารถนำมาใช้จ่ายได้เหมือนเดิม ดังนั้นหากต้องการใช้จ่ายเหมือนเดิมจะต้องถอนเงินใช้เพิ่มขึ้นทุกปี จากตัวอย่างข้างต้น หากคำนวณแล้วปีแรกถอนใช้ได้เดือนละ 5,000 บาท อัตราเงินเฟ้อ 2.5% ต่อปี ปีที่สองจะต้องถอนใช้เพิ่มเป็นเดือนละ 5,125 บาท ส่วนปีที่สามถอนใช้เพิ่มเป็น 5,253 บาท และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี จะเห็นได้ว่าหากเป็นเช่นนี้จะทำให้เงินออมที่มีจะไม่เพียงพอใช้จ่ายตามระยะเวลาที่ต้องการ

 

ดังนั้นนอกจากจะวางแผนถอนใช้เงินแล้วยังต้องวางแผนนำเงินออมส่วนที่ยังไม่ได้ถอนไปใช้ นำไปลงทุนที่สร้างผลตอบแทนกลับมาอย่างน้อยเท่ากับอัตราเงินเฟ้อประมาณ 2.5% ต่อปีอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สร้างผลตอบแทนแฉลี่ย 2.5% ต่อปี ก็มีให้เลือกหลากหลาย เช่น เงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสมระหว่างตราสารหนี้และตราสารทุน หรือหากต้องการเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นซึ่งจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามไปด้วย ก็สามารถจัดพอร์ตการลงทุนให้มีสัดส่วนของหุ้นมากขึ้นตามความเสี่ยงที่รับได้

 

สำหรับสมาชิก กบข. ที่เกษียณก็ไม่จำเป็นต้องรับเงินคืนจาก กบข. ทั้งจำนวน โดยสามารถเลือกบริการออมต่อกับ กบข. เพราะนอกจากสามารถวางแผนทยอยนำเงินออกได้ตามจำนวนเงินที่ต้องการ เงินส่วนที่ยังไม่นำออกก็ยังสร้างผลตอบแทนในแผนการลงทุนที่เลือกไว้ก่อนเกษียณตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น เลือกออมต่อในแผนตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่ 1.49% ต่อปี หรือ เแผนหลัก อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่ 3.12% ต่อปี ( ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2565)

 

กรณีพบว่า เงินที่มี ณ วันเกษียณเมื่อวางแผนการถอนเงินใช้และรวมกับรายได้อื่น เช่น บำนาญ รายได้จากค่าเช่า ในแต่ละเดือนแล้ว ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนจนสิ้นอายุขัย แนะนำให้วางแผนลดรายจ่าย โดยเริ่มจากรายจ่ายที่จำเป็นน้อยที่สุดก่อน หรือหาวิธีเพิ่มรายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเริ่มจากความชอบหรือประสบการณ์ที่มีที่นอกจากจะช่วยคลายเหงาในวัยเกษียณแล้วยังช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

สำหรับสมาชิก กบข. หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม อยากรู้ว่าเงินส่วนที่ยังไม่ถอนไปใช้ควรลงทุนรูปแบบไหนดี สามารถนัดหมายศูนย์ข้อมูลการเงิน ได้ที่ เมนู นัดหมายบริการข้อมูลการเงิน ใน My GPF Application