บริการสมาชิก
บริการดิจิทัล
แผนการลงทุน
ออมเพิ่ม
ออมต่อ
สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก
ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน
ความรู้คู่การออม
ปฏิทินกิจกรรม
วารสาร กบข.
แบบฟอร์มต่างๆ
คู่มือหรือมาตรฐานการให้บริการ
หน้าหลัก
ตำแหน่งที่เปิดรับ
กรอกใบสมัคร
สรุปผลการจัดซื้อ-จัดจ้าง
วิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศจำหน่ายทรัพย์สิน
MCS Web
แบบฟอร์ม
งาน กบข.
กิจกรรมต่าง ๆ
ภาพบริการสมาชิก

มรดกของฉันเป็นของใคร





     
     


                    การจัดการเงินหลังเกษียณไม่ได้จำกัดเพียงแค่ใช้จ่ายหรือนำเงินไปลงทุนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการส่งต่อทรัพย์สินที่เก็บสะสมมาให้กับทายาท ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “ทายาท” หรือผู้มีสิทธิรับมรดกแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ทายาทโดยธรรม ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้เป็นแบบแผนแล้ว กับทายาทโดยพินัยกรรม ซึ่งบุคคลที่ผู้เสียชีวิตประสงค์มอบทรัพย์สินให้เป็นการเฉพาะเจาะจง

 

“ทายาทโดยธรรม” แบ่งเป็น 6 ลำดับดังนี้

ลำดับแรก คือ ผู้สืบสันดาน ซึ่งกินความกว้างกว่าบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดาที่สมรสกัน แต่ครอบคลุมถึงหลานและเหลน บุตรที่บิดาจดทะเบียนรับรองโดยที่บิดามารดาแต่งงานกันแบบไม่ได้จดทะเบียนสมรส บุตรนอกสมรส เช่น เกิดจากฝ่ายสามีไปมีภรรยาน้อย โดยผู้เป็นบิดาได้แสดงออกถึงพฤติกรรมให้การรับรองว่าเป็นบุตรของตน เช่น มีหลักฐานว่าอุปการะเลี้ยงดู ให้ใช้นามสกุลเดียวกับบิดา เป็นต้น รวมทั้งบุตรบุญธรรม เหล่านี้เป็นถือเป็นทายาทลำดับแรกทั้งสิ้น

ลำดับที่สอง คือ บิดา มารดา ที่สมรสกันตามกฎหมาย

ลำดับที่สาม คือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

ลำดับที่สี่ คือ พี่น้องร่วมบิดา หรือ มารดาเดียวกัน

ลำดับที่ห้า คือ ปู่ ย่า ตา ยาย

และลำดับที่หก คือ ลุง ป้า น้า อา


เมื่อต้องแบ่งมรดกกันก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนในทุกลำดับชั้นจะเข้ามามีส่วนแบ่ง แต่จะอิงหลัก “ญาติสนิทตัดญาติห่าง” โดยสองลำดับแรกคือผู้สืบสันดานและบิดามารดาของผู้เสียชีวิตเรียกว่า “ญาติสนิท” ส่วนลำดับที่เหลือเรียกว่า “ญาติห่าง” โดยกติกาคือหากมีญาติสนิทอยู่แม้เพียงคนใดคนหนึ่ง จะเป็นผลให้ญาติห่างทั้งหมดไม่มีสิทธิใดๆ ในกองมรดกนั้นเลย ขณะที่ญาติสนิทจะไม่ตัดกันเอง หมายความว่าหากมีผู้สืบสันดานและบิดามารดาอยู่ด้วยกันจะให้นำมาแบ่งสรรปันส่วนกัน ส่วนคู่สมรสที่จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมาย จัดเป็นทายาทโดยธรรมตามบทบัญญัติพิเศษ ซึ่งมีสิทธิในสินทรัพย์สูงมาก เพราะนอกจากจะได้สินสมรสไปครึ่งหนึ่งแล้ว ยังคงมีสิทธิในส่วนที่เหลือซึ่งเป็นกองมรดกอีกด้วย เรียกว่าได้สองเด้งเลยทีเดียว

สมมติ ว่าฝ่ายสามีมีสินทรัพย์ทั้งหมดอยู่ 10 ล้านบาท ซึ่งทำมาหาได้หลังจดทะเบียนและนับเป็นสินสมรส หากเกิดเหตุเสียชีวิตขึ้นมา ขั้นแรกคือแบ่งสินสมรสครึ่งหนึ่งให้ฝ่ายภรรยาไปเลย 5 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5 ล้านบาทจึงตกเป็นกองมรดกเพื่อนำไปแบ่งกันในหมู่ทายาท ทั้งนี้ การได้รับสินสมรสไปแล้วไม่ได้ทำให้คู่สมรสเสียสิทธิในกองมรดก เวลาแบ่งมรดกกันจะต้องให้ฝ่ายภรรยาเข้ามาร่วมวงด้วยเสมอ จากกรณีข้างต้น หากฝ่ายสามีมีญาติสนิท ได้แก่ บุตรหนึ่งคน บิดาและมารดา เมื่อรวมกับภรรยาแล้วทั้งหมดจะเป็น 4 คน เงินที่เหลืออยู่ในกองมรดกจำนวน 5 ล้านบาทก็จะนำไปหารเท่า ได้เท่ากับ 1.25 ล้านบาทต่อคน ดังนั้น ฝ่ายภรรยาจะได้รับรวมทั้งสิ้น 6.25 ล้านบาท กล่าวคือ 5 ล้านบาทในส่วนของสินสมรสและอีก 1.25 ล้านบาทในส่วนของกองมรดกนั่นเอง

 หากไม่มีทายาทลำดับที่หนึ่งและสองแล้ว แต่มีทายาทลำดับที่สามหรือสี่อยู่ กำหนดว่าคู่สมรสมีสิทธิได้ครึ่งหนึ่งของกองมรดก หากมีเหลือแค่ลำดับห้าหรือหก คู่สมรสจะได้ไปสองในสามส่วน และหากไม่มีทายาทโดยธรรมในลำดับที่หนึ่งถึงหกอยู่เลย คู่สมรสก็จะได้รับมรดกไปเต็มจำนวน



สรุปง่ายๆ คือไม่ว่าจะกรณีไหน คู่สมรสได้ทั้งสินสมรสและส่วนแบ่งจากกองมรดกเสมอ หากต้องการกำหนดด้วยตนเองว่าสินทรัพย์ชิ้นไหนจะให้ใครเป็นการเฉพาะเจาะจง ก็สามารถทำได้โดยการเขียนพินัยกรรม ซึ่งผู้รับผลประโยชน์ในกรณีนี้เรียกว่า “ทายาทโดยพินัยกรรม” นั่นเอง



การทำพินัยกรรมมีหลายแบบ หากจะให้ดูเป็นทางการหน่อยควรพิมพ์ข้อความพินัยกรรมให้เรียบร้อย และนำไปยื่นต่อสำนักงานเขตหรืออำเภอพร้อมพยานอย่างน้อย 2 คนลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน เก็บไว้ที่เจ้ามรดกหนึ่งฉบับและไว้ที่สำนักงานเขตหรืออำเภออีกหนึ่งฉบับ เรียกว่าพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องรอว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงใกล้เสียชีวิตแล้วค่อยมาทำพินัยกรรม เพราะหากทำในสถานการณ์ที่มีผู้โต้แย้งว่าขาดสติสัมปชัญญะแล้ว อาจส่งผลให้เกิดการตีความว่านิติกรรมไม่สมบูรณ์ก็เป็นได้

 นอกเหนือจากการทำพินัยกรรมแล้ว ผู้ที่ต้องการส่งต่อมรดกอาจเลือกใช้ทรัพย์สินการเงินบางประเภท ซึ่งมีลักษณะเป็น “เสมือนพินัยกรรม” กล่าวคือเปิดให้ระบุชื่อของบุคคลที่ประสงค์จะได้รับเงินไว้เป็นการเฉพาะเจาะจง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรมธรรม์ประกันชีวิต ที่ให้ระบุชื่อบุคคลและสัดส่วนของเงินที่จะได้รับตั้งแต่ตอนยื่นคำขอทำประกันชีวิต ดังนั้น เงินในส่วนนี้ไม่ต้องตกเข้าสู่กองมรดกเหมือนทรัพย์สินทั่วไป เว้นแต่ว่าผู้รับผลประโยชน์ทั้งหมดที่ระบุไว้นั้นได้เสียชีวิตไปก่อน เงินดังกล่าวจึงไปตกอยู่ในกองมรดก

 

แถมท้ายให้อีกนิดหนึ่งสำหรับสินทรัพย์การเงินประเภทที่มีเงื่อนไขการถือครองอย่าง LTF SSF และ RMF นั้น ผู้จัดการมรดกสามารถติดต่อสถาบันการเงินเพื่อดำเนินการขายคืนได้แม้ว่าจะยังถือครองไม่ครบกำหนดก็ตาม โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขเนื่องจากเป็นการขายในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนถึงแก่กรรม อย่างไรก็ดี กองทุนประเภทอื่นที่ระบุระยะเวลาถือครอง หรือที่เรียกว่ากองทุนปิดนั้น โดยทั่วไปจำต้องรอให้ครบกำหนดตามเงื่อนไขของเวลาก่อน ขณะที่พันธบัตรหรือหุ้นกู้ภาคเอกชน ปกติแล้วต้องไปหาตลาดรองในการขายสินทรัพย์ออกไป หรือไม่ก็รอให้ครบกำหนดเช่นกัน



การเข้าใจว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่จะส่งต่อไปให้ใครจะเป็นประโยชน์ให้เกิดความสบายใจทั้งผู้ให้ และป้องกันปัญหาความขัดแย้งกันในหมู่ทายาท ทั้งนี้ สมาชิก กบข. ที่ต้องการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับมรดกหรือการจัดการเงินหลังเกษียณ สามารถนัดหมาย “ศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข.” ผ่าน My GPF Application