บริการสมาชิก
บริการดิจิทัล
แผนการลงทุน
ออมเพิ่ม
ออมต่อ
สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก
ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน
ความรู้คู่การออม
ปฏิทินกิจกรรม
วารสาร กบข.
แบบฟอร์มต่างๆ
คู่มือหรือมาตรฐานการให้บริการ
หน้าหลัก
ตำแหน่งที่เปิดรับ
กรอกใบสมัคร
สรุปผลการจัดซื้อ-จัดจ้าง
วิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศจำหน่ายทรัพย์สิน
MCS Web
แบบฟอร์ม
งาน กบข.
กิจกรรมต่าง ๆ
ภาพบริการสมาชิก

เรื่องต้องรู้ก่อนลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง




         
 


ในโลกการลงทุนนั้น มีสินทรัพย์ลงทุนหลายอย่างที่ให้ผลตอบแทนที่ดี แต่ต้องไม่ลืมว่าผลตอบแทนที่ได้มานั้น ไม่ได้มีการรับประกันว่าจะมีความแน่นอน อาจจะมีบางช่วงเวลาที่ได้ผลตอบแทนมาก บางช่วงอาจได้ผลตอบแทนน้อย และถ้าผู้ลงทุนต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนสูง สิ่งที่ตามมาก็คือสินทรัพย์ลงทุนย่อมมีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน (High Risk High Expected Return) ซึ่งโดยทั่วไปนั้น สินทรัพย์เสี่ยง หมายถึงสินทรัพย์ลงทุนที่มีความผันผวนของราคา (Price Volatility) ราคาจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปตามสภาวะเศรษฐกิจและสภานการณ์การลงทุน ตัวอย่างสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นสามัญ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีสิ่งที่ต้องรู้ก่อนเริ่มต้นลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ดังนี้

ลงทุนในหุ้นไทย

หุ้น เป็นสินทรัพย์การลงทุนที่เมื่อลงทุนไปแล้วจะมีฐานะเป็นเจ้าของบริษัท ทำให้มีส่วนร่วมในผลประกอบการของกิจการนั้น ๆ สำหรับผู้ลงทุนในหุ้นจะได้รับผลตอบแทนสองส่วน คือ ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend) ที่บริษัทจ่ายออกมาเมื่อบริษัทมีกำไร และผลตอบแทนกำไรส่วนต่างราคา (Capital Gain) ซึ่งราคาหุ้นอาจปรับตัวสูงขึ้นจากการเติบโตของบริษัท การเติบโตของกำไรในแต่ละปี โดยหุ้นในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาจได้หรือเสียประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน ได้รับผลกระทบเชิงลบ หุ้นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ในขณะที่หุ้นกลุ่มผลิตอุปกรณ์และเครื่องทางการแพทย์ ธุรกิจประกันภัยได้รับประโยชน์ อีกทั้งราคาหุ้นยังขึ้นอยู่กับสภาวะการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย

ลงทุนหุ้นต่างประเทศ

เป็นการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้นที่จดทะเบียนในต่างประเทศ นอกเหนือจากความเสี่ยงจากบริษัท (Business Risk) ที่ไปลงทุนแล้ว ผู้ลงทุนไทยยังมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Risk) ที่ต้องให้ความสำคัญเนื่องจากความเสี่ยงนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ ถ้าผู้ลงทุนมีการลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศ โดยกองทุนนั้นมีนโยบาย “ไม่ป้องกันความเสี่ยง” ถ้าได้รับผลตอบแทนจากกองทุนหลัก (Master Fund) 10% แล้วเงินบาทแข็งค่า 6% ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับในสกุลเงินบาทกรณีนี้จะเท่ากับ 4% (10% - 6%) แต่ในกรณีที่ลงทุนในกองทุนที่มีนโยบาย “ป้องกันความเสี่ยงทั้งจำนวน” ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนประมาณ 10% (อาจได้รับผลตอบแทนน้อยกว่า 10% เนื่องจากมีต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน)

กองทุนอสังหาริมทรัพย์

ทั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) อาจนำเงินไปลงทุนใน อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า คลังสินค้า โรงแรม สนามบิน ทางด่วน เป็นต้น ซึ่งกองทุนเหล่านี้จะมีรายได้จาก “ค่าเช่า” เป็นหลัก ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะนำเงินมาจ่ายปันผลให้กับผู้ลงทุน สำหรับผู้ลงทุนในกองทุนที่เป็นสิทธิการเช่า (Leasehold) จะได้ทั้งเงินปันผลและเงินลดทุน เนื่องจากกองทุนอสังหาฯที่เป็นสิทธิการเช่านั้น สิทธิในการหารายได้จะหมดไปเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด ผลตอบแทนที่ได้รับนอกจากจะเป็นปันผลจากค่าเช่าแล้วจะมีเงินต้นของผู้ลงทุนทยอยคืนกลับมาให้บางส่วนด้วย

ในสถานการณ์ที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ กองทุนอสังหาฯที่มีรายได้ค่าเช่าอย่างสม่ำเสมอมีความน่าสนใจ แต่ถ้าเมื่อไรที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นอาจทำให้ผู้ถือหน่วยกองทุนอสังหาฯ ขาดทุนได้ เนื่องจากผู้ลงทุนอาจขายกองอสังหาฯ ไปลงทุนในพันธบัตร อีกทั้งความเสี่ยงของการลงทุนในอสังหาฯนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเป็นอสังหาฯที่อยู่ในธุรกิจประเภทใด ซึ่งอาจมีความเสี่ยงใกล้เคียงกับธุรกิจที่ใช้อสังหาฯนั้นประกอบกิจการอยู่

สินค้าโภคภัณฑ์

สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นสินค้าที่มีความเหมือนกัน แทบจะไม่มีความแตกต่างกันในคุณภาพระหว่างสินค้า ดังนั้นสินค้าโภคภัณฑ์จึงเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าได้ ราคาจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทาน (Demand and Supply) ในตลาดโลก โดยสินค้าโภคภัณฑ์แบ่งเป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่ 1) Soft Commodities คือสินค้าทางการเกษตร เช่น เมล็ดกาแฟ เนื้อสัตว์ น้ำตาล 2) Hard Commodities คือสินค้าประเภทวัตถุดิบที่มาจากเหมืองแร่ เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง 3) Energy Commodities หมายถึงวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่การซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์จะซื้อขายกันในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งแม้ว่าจะมีความผันผวนสูงแต่ในบางช่วงเวลา เช่น ช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นการลงทุนหุ้น อาจส่งผลให้ ทองคำ มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งราคาทองคำมีแนวโน้มเคลื่อนไหวตรงข้ามกับทิศทางเศรษฐกิจ อีกทั้งสินค้าโภคภัณฑ์นั้นเป็นเครื่องมือการลงทุนที่มีไว้ป้องกันเงินเฟ้อ เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวตามเงินเฟ้อ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ใช้เป็นต้นทุนในการผลิตสินค้า

การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงนั้น ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งอย่างเดียว ควรมีการกระจายการลงทุน (Diversification) ซึ่งทำได้ด้วยการจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ (Asset Allocation) เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวม และช่วยให้อัตราผลตอบแทนเป็นไปตามเป้าหมายการลงทุน ทั้งนี้ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์นั้น ๆ ก่อนลงทุนนะครับ