บริการสมาชิก
บริการดิจิทัล
แผนการลงทุน
ออมเพิ่ม
ออมต่อ
สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก
ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน
ความรู้คู่การออม
ปฏิทินกิจกรรม
วารสาร กบข.
แบบฟอร์มต่างๆ
คู่มือหรือมาตรฐานการให้บริการ
หน้าหลัก
ตำแหน่งที่เปิดรับ
กรอกใบสมัคร
สรุปผลการจัดซื้อ-จัดจ้าง
วิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศจำหน่ายทรัพย์สิน
MCS Web
แบบฟอร์ม
งาน กบข.
กิจกรรมต่าง ๆ
ภาพบริการสมาชิก

การบริหารเงินสำหรับวัยเริ่มต้นทำงาน




           


สำหรับผู้ที่เรียนจบใหม่ เมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มมีความรับผิดชอบมากขึ้นทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องหน้าที่การงาน เริ่มมีเป้าหมายที่อยากสร้างอนาคตของตนเอง เริ่มมีรายได้และเริ่มมีอิสระในการใช้เงินของตนเอง ซึ่งสิ่งที่ควรระวังอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานก็คือ “อาการวู่วาม” (Impulsive) ซึ่งเป็นการตัดสินใจใช้เงินด้วยอารมณ์เป็นส่วนใหญ่ เช่น การซื้ออุปกรณ์ไอทีทุกครั้งที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ การซื้อเสื้อผ้าตามแฟชั่น หรือการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยไม่ได้วางแผน อาจเสี่ยงต่อการใช้เงินมากกว่ารายได้ก่อให้เกิดหนี้สินตามมาได้ง่าย เช่น หนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ที่เริ่มต้นทำงานได้ไม่นานก็อาจเริ่มกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ เริ่มมีหนี้สินผูกพันระยะยาวตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งจะทำให้มีภาระดอกเบี้ยจ่ายในระยะยาวจำนวนมาก เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการออมเงินและวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ ในอนาคต และอาจก่อให้เกิดปัญหาภาระหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย

 

ดังนั้นเมื่อมีรายได้ควรเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่การจัดการค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ทำงบประมาณเพื่อใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เมื่อบริหารรายได้และค่าใช้จ่ายของตนเองแล้วก็ควรเริ่มตั้งเป้าหมายการออมเพื่อจะได้เลือกแหล่งเงินออมและการลงทุนได้อย่างเหมาะสม โดยเริ่มจากเงินออมก้อนแรก คือ เงินออมเผื่อฉุกเฉิน ควรมีอย่างน้อย 3 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน ไว้สำหรับถอนใช้ได้ทันทีเมื่อจำเป็นต้องใช้เงิน จะช่วยลดการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น ซึ่งเงินออมนี้ควรเก็บไว้ในบัญชีที่สามารถถอนใช้ได้ง่าย เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

 

ส่วนการกำหนดเป้าหมายการออมควรแบ่งระยะเป้าหมายเป็น ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อช่วยให้เราวางแผนได้ครอบคลุม ไม่ควรละเลยเป้าหมายระยะยาว โดยเฉพาะเป้าหมายเกษียณที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ ยิ่งเริ่มต้นเร็วจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในปัจจุบันและในวัยเกษียณ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็ให้ความสำคัญ มีกลไกช่วยสนับสนุนให้วัยทำงานมีเงินออมเพื่อเกษียณ เช่น ผู้ที่ทำงานภาคเอกชนจะต้องนำส่งเงินในแต่ละเดือนเข้ากองทุนประกันสังคม ร้อยละ 5 ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือนและนำส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขั้นต่ำร้อยละ 3 ของเงินเดือน และได้รับเงินสมทบจากนายจ้างตามข้อบังคับของกองทุนฯ

 

ส่วนผู้ที่รับราชการและเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จะต้องนำส่งเงินสะสมในแต่ละเดือนเข้า กบข. ขั้นต่ำร้อยละ 3 ของเงินเดือน นอกจากนี้ยังได้เงินสมทบจากภาครัฐร้อยละ 3 และเงินชดเชยอีกร้อยละ 2 ของเงินเดือน รวมแล้วจะทำให้มีเงินลงทุนเตรียมไว้เพื่อการเกษียณแล้วอย่างน้อยเป็นจำนวนร้อยละ 8 ของเงินเดือน

จากการประเมินของศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานควรเริ่มต้นออมเงินเพื่อการเกษียณของตนเองอย่างน้อยที่ร้อยละ 10 ของรายได้ต่อเดือน และเมื่อมีศักยภาพในการออมมากขึ้น ควรเพิ่มระดับเงินลงทุนเพื่อวัยเกษียณมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงร้อยละ 20 ของรายได้ต่อเดือน ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าจะสามารถใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ

 

ดังนั้นศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. แนะนำว่าข้าราชการบรรจุใหม่ควรเพิ่มสัดส่วนการออมเพิ่มให้ได้อีกร้อยละ 2 ของเงินเดือนเป็นอย่างน้อย เมื่อรวมกับเงินสะสมภาคบังคับ เงินสมทบ และเงินชดเชยรวมเป็นร้อยละ 10 ของเงินเดือน หากเริ่มต้นรับราชการอายุ 25 ปี ที่เงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท คงอัตราการออมรวมที่ร้อยละ 10 ของเงินเดือนที่มีการปรับเงินเดือนขึ้นในแต่ละปี ไปจนถึงอายุ 60 ปี เมื่อเกษียณราชการคาดว่าจะได้รับเงิน กบข. ประมาณ 3 ล้านบาท แต่หากสามารถออมเพิ่มสูงสุดร้อยละ 12 รวมกับเงินสะสมภาคบังคับ เงินสมทบ และเงินชดเชยรวมเป็นร้อยละ 20 ของเงินเดือน ตั้งแต่เริ่มต้นรับราชการจนเกษียณ คาดว่าจะได้รับเงินประมาณ 6 ล้านบาท จะเห็นได้ว่ายิ่งออมมากออมเร็วจะยิ่งทำให้มีเงินในวัยเกษียณเพิ่มมากขึ้น

 

แม้ในวัยเริ่มต้นทำงานอาจจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่เมื่อมีรายได้ต่อเดือนเพิ่มมากขึ้น มีความสามารถในการออมมากขึ้น แนะนำว่าควรพิจารณาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. ให้มากขึ้นเป็นลำดับแรก เนื่องจากการลงทุนเหล่านี้นอกเหนือจากการได้ผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว เงินลงทุนยังสามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

 

สำหรับสมาชิก กบข. สามารถนัดหมายเพื่อขอคำแนะนำด้านการออมเพิ่ม และการเปลี่ยนแผนการลงทุน หรือสอบถามข้อมูลด้านอื่น ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจทางการเงิน สามารถติดต่อศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินได้ที่ เมนู "นัดหมายปรึกษา" ใน My GPF Application