บริการสมาชิก
บริการดิจิทัล
แผนการลงทุน
ออมเพิ่ม
ออมต่อ
สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก
ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน
ความรู้คู่การออม
ปฏิทินกิจกรรม
วารสาร กบข.
แบบฟอร์มต่างๆ
คู่มือหรือมาตรฐานการให้บริการ
หน้าหลัก
ตำแหน่งที่เปิดรับ
กรอกใบสมัคร
สรุปผลการจัดซื้อ-จัดจ้าง
วิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศจำหน่ายทรัพย์สิน
MCS Web
แบบฟอร์ม
งาน กบข.
กิจกรรมต่าง ๆ
ภาพบริการสมาชิก

การแก้ไขกฎหมาย กบข. เพื่อทวีค่าเงินออมให้สมาชิก




            


                    การแก้ไขกฎหมาย กบข. ในครั้งนี้เป็นการเพิ่มสิทธิและลดข้อจำกัดต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มทางเลือกในการออมเงินให้เพียงพอเมื่อเกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานที่สำคัญของแผนยุทธศาสตร์ด้านสมาชิก ปี พ.ศ. 2564 - 2566 การแก้ไขกฎหมายแต่ละประเด็นจึงเป็นหนทางที่นำไปสู่การทวีค่าเงินออมให้แก่สมาชิกให้ได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

1. สมาชิกสามารถแสดงความประสงค์ออมเพิ่มกับ กบข. ได้สูงสุด 27% ของเงินเดือน

            เดิมสมาชิกนำส่งเงินสะสมภาคบังคับ 3% ของเงินเดือน และสามารถเลือกอัตราออมเพิ่มภาคสมัครใจได้ตั้งแต่ 1-12% ของเงินเดือน รวมเป็น 15% ของเงินเดือน แต่การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ สมาชิกจะสามารถเลือกอัตราออมเพิ่มได้ตั้งแต่ 1-27% รวมเป็น 30% ของเงินเดือน โดยสมาชิกสามารถเพิ่มหรือลดอัตราการออมเพิ่มได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งขึ้นอยู่กับแนวปฏิบัติที่ส่วนราชการเจ้าสังกัดของสมาชิกกำหนด โดยมีประโยชน์ดังนี้

  • ช่วยเพิ่มเงินออมที่จะได้รับ ณ วันเกษียณอายุราชการ โดยเงินออมเพิ่มที่นำส่งมาในแต่ละเดือนตลอดระยะเวลาการเป็นสมาชิก จะทำให้มีเงินตั้งต้นเพิ่มมากขึ้น และเมื่อ กบข. นำเงินเหล่านั้นไปลงทุน ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนมากขึ้น โดย กบข. จะนำผลตอบแทนที่ได้กลับไปลงทุนต่ออีกขั้นหนึ่ง ก็จะยิ่งช่วยทวีค่าเงินออมมากขึ้น
  • ช่วยเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านภาษีมากขึ้น เมื่อสมาชิกเปลี่ยนอัตราเงินออมเพิ่มมากขึ้นจากเดิม 12% เป็น 27% ของเงินเดือน รวมกับเงินนำส่งตามกฏหมาย 3% ของเงินเดือน เงินที่สมาชิกนำส่งให้แก่ กบข. สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ทั้งจำนวน แต่เมื่อรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF)  หรือกองทุนอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และประกันแบบบำนาญแล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • ช่วยวางแผนการออมระยะยาวเพื่อเกษียณอายุราชการได้ โดยสมาชิกสามารถคำนวณจำนวนเงินที่ต้องการได้จากเมนู My GPF & My GPF Twins ในแอป กบข. ซึ่งจะช่วยประมาณการได้ว่า ควรออมเพิ่มเป็นจำนวนเท่าใด เพื่อให้ได้เงิน กบข. ณ วันเกษียณอายุราชการตามเป้าหมายที่ต้องการ


2. สมาชิกสามารถเลือกแผนการลงทุนสำหรับเงินในบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกที่ประกอบด้วยเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม และเงินชดเชยได้ทั้งหมด

                กบข. มีแผนการลงทุนให้สมาชิกเลือกหลากหลายแผนตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับสมาชิกแต่ละคน เพื่อเลือกนโยบายการลงทุนให้สอดคล้องกับระยะเวลาและเป้าหมายการลงทุน โดยการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ สมาชิกจะสามารถเลือกแผนการลงทุนให้แก่เงินทั้ง 5 ส่วน ได้ทั้งหมด โดยเมื่อสมาชิกแจ้งเปลี่ยนแผนการลงทุนแล้ว เงินในบัญชีเงินรายบุคคลทั้งหมด 5 ส่วนนี้ จะถูกเปลี่ยนไปลงทุนในแผนการลงทุนที่สมาชิกเลือก โดยมีประโยชน์ดังนี้

                ช่วยให้สมาชิกบริหารเงินลงทุนของตนเองได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากการที่เงินทั้งหมดอยู่ในแผนการลงทุนที่สมาชิกเลือกเหมือนกัน จะทำให้สมาชิกเห็นสัดส่วนเงินลงทุนทั้งหมดได้ชัดเจนขึ้น เช่น สมาชิกเลือกเปลี่ยนแผนการลงทุนเป็น แผนหุ้น 35 เงินทั้งหมดในบัญชีของสมาชิกก็จะถูกลงทุนในหุ้นประมาณ 35% ส่วนที่เหลือลงทุนในตราสารหนี้ และสินทรัพย์อื่น ตามนโยบายของแผนหุ้น 35 ที่กำหนดไว้ หรือหากสมาชิกต้องการกำหนดสัดส่วนของเงินลงทุนด้วยตนเอง ก็สามารถเลือกแผนแบบผสมสัดส่วนเองได้ เช่น ต้องการลงทุนในแผนตราสารหนี้ 20% แผนกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทย 10% แผนหุ้นต่างประเทศ 40% และแผนหุ้นไทย 30% เงินในบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกทั้งหมด ก็จะถูกจัดสัดส่วนลงทุนในหลักทรัพย์ได้ตามที่สมาชิกต้องการ อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวัง คือ เมื่อเงินในบัญชีเงินรายบุคคลทั้งหมดสามารถเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ตามที่สมาชิกต้องการ สิ่งที่สมาชิกควรให้ความสำคัญคือ การกระจายความเสี่ยง เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ใดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในทุกช่วงเวลาสมาชิกจึงควรพิจารณาเลือกแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ 



3. สมาชิกบรรจุเข้ารับราชการใหม่หากไม่ใช้สิทธิเลือกแผนการลงทุน จะกำหนดให้ลงทุนในแผนสมดุลตามอายุ

                การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นการเพิ่มโอกาสให้สมาชิกบรรจุใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีอายุไม่มากนักและมีระยะเวลาลงทุนอีกนานกว่าจะเกษียณอายุราชการ โดยกำหนดให้เงินในบัญชีเงินรายบุคคลทั้ง 5 ส่วนของสมาชิกเข้ารับราชการใหม่ที่ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกแผนการลงทุน ลงทุนในแผนสมดุลตามอายุ ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศประมาณ 75% ส่วนที่เหลือกระจายลงทุนหลากหลายสินทรัพย์ และเมื่ออายุเพิ่มขึ้นมากกว่า 51 ปีขึ้นไป ก็จะเริ่มปรับสัดส่วนหุ้นลดลงให้เหมาะกับอายุของสมาชิกที่เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ

                สำหรับสมาชิกบางประเภทข้าราชการที่เกษียณอายุที่ 65 ปี หรือ 70 ปี ก็จะอยู่ในแผนสมดุลตามอายุ 65 ปี และแผนสมดุลตามอายุ 70 ปี ตามลำดับ ซึ่งแผนสมดุลตามอายุทั้ง 60 ปี 65 ปี และ 70 ปี จะแตกต่างกันเพียงการกำหนดช่วงอายุที่เริ่มปรับลดสัดส่วนหุ้นลง อย่างไรก็ตามแผนสมดุลตามอายุ ในบางช่วงเวลาอาจได้ผลตอบแทนสูงมาก หรือผลตอบแทนลดลงมาก เนื่องจากมีสัดส่วนหุ้น 75% หรือในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อาจเห็นผลตอบแทนติดลบได้ แต่สมาชิกอายุน้อยยังมีระยะเวลาลงทุนอีกนาน ซึ่งระยะเวลาจะช่วยลดความผันผวนจากการลงทุนได้และมีโอกาสทำให้ได้รับผลตอบแทนสะสมที่มากขึ้นในอนาคตนั่นเอง


4. สมาชิกสามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาให้ กบข. บริหารต่อได้

                    การแก้ไขกฎหมายประเด็นนี้เพื่อรองรับกรณีที่สมาชิกเคยทำงานมาก่อนเข้ารับราชการ และมีเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD) มาก่อน เมื่อมาบรรจุเป็นข้าราชการและเป็นสมาชิก กบข. ตามกฎหมาย จึงไม่มีการนำส่งเงินออมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว แต่ยังคงมีเงินค้างไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยจะมีค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุนประมาณปีละ 500 บาท การแก้ไขกฎหมายจึงเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถโอนเงินมาให้ กบข. บริหารต่อให้ได้ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ แต่ต้องเป็นการแจ้งโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาให้ กบข. โดยตรงเท่านั้น ห้ามแจ้งปิดบัญชีและขายหน่วยลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วนำเงินสดหรือเงินโอนหรือเช็คที่สั่งจ่ายชื่อสมาชิกมาให้ กบข. โดยมีประโยชน์ดังนี้

                    กรณีสมาชิกมีความประสงค์นำเงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของตนเองโอนมาให้ กบข. บริหารต่อทั้งจำนวน สมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เนื่องจากเป็นการโอนย้ายมากองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนระยะยาวเพื่อเกษียณเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นการขายหน่วยลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและนำเงินออกไป เพราะถ้าสมาชิกขายหน่วยลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่โดยอายุตัวไม่ถึง 55 ปี จำนวนเงินส่วนของนายจ้างและผลตอบแทนที่ได้รับทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทนที่เกิดจากเงินสะสมของตนเองและผลตอบแทนที่เกิดจากเงินสมทบของนายจ้าง (ไม่รวมยอดเงินต้นที่ตนเองนำส่งสะสม) จะต้องนำไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่หากเป็นการย้ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมายัง กบข. จำนวนเงินดังกล่าวข้างต้นที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน โดยไม่ต้องนำไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มความสะดวกในการติดตามยอดเงิน โดยติดตามกับ กบข. เพียงที่เดียว


5. ออมต่อสามารถเลือกแผนการลงทุนได้ 

                    เดิมสมาชิกที่เกษียณอายุราชการหรือลาออกจากราชการและมีความประสงค์คงเงินไว้กับ กบข. เพื่อให้ กบข. บริหารเงินของสมาชิกตามนโยบายของแผนการลงทุนที่สมาชิกเลือกไว้ ณ วันเกษียณ จะไม่สามารถเปลี่ยนแผนลงการทุนได้อีก ซึ่งส่งผลกระทบกับผู้ออมต่อที่มีอายุเพิ่มขึ้นหรือมีวัตถุประสงค์ในการออมเงินเปลี่ยนไป ทำให้ระดับการยอมรับความเสี่ยงเปลี่ยนตามไปด้วย ดังนั้นนโยบายของแผนการลงทุนแบบเดิมอาจจะไม่เหมาะสม การแก้กฎหมายครั้งนี้จะช่วยทำให้ผู้ที่ใช้บริการออมต่อสามารถเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ปีละ 12 ครั้ง เหมือนกับสมาชิกทั่วไป อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแผนการลงทุนไม่ควรเปลี่ยนบ่อยเกินไป และควรเปลี่ยนแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนของตนเอง ซึ่งมีประโยชน์ดังนี้

                    ช่วยเพิ่มโอกาสในการบริหารเงินให้ผู้ออมต่อที่มีวัตถุประสงค์ในการออมเงินที่เปลี่ยนไปจากเดิม สามารถเปลี่ยนแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนของตนเองได้ปีละ 12 ครั้ง