บริการสมาชิก
บริการดิจิทัล
แผนการลงทุน
ออมเพิ่ม
ออมต่อ
สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก
ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน
ความรู้คู่การออม
ปฏิทินกิจกรรม
วารสาร กบข.
แบบฟอร์มต่างๆ
คู่มือหรือมาตรฐานการให้บริการ
หน้าหลัก
ตำแหน่งที่เปิดรับ
กรอกใบสมัคร
สรุปผลการจัดซื้อ-จัดจ้าง
วิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศจำหน่ายทรัพย์สิน
MCS Web
แบบฟอร์ม
งาน กบข.
กิจกรรมต่าง ๆ
ภาพบริการสมาชิก

5 ข้อคิดจากหนังสือ "จิตวิทยาว่าด้วยเรื่องของเงิน" The Psychology of Money



          


           



                  โพสต์นี้มีเรื่องราวดี ๆ จากหนังสือ “จิตวิทยาว่าด้วยเงิน” (The Psychology of Money) ซึ่งเขียนโดยนายมอร์แกน เฮาเซิล (Mr. Morgan Housel) อดีตหุ้นส่วนของ Collaborative Fund และอดีตนักเขียนบทความของหนังสือพิมพ์เดอะวอลสตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal) และเดอะ มอทลีย์ ฟูล (The Motley Foo) โดยสมมติฐานของหนังสือเล่มนี้เชื่อว่าการจัดการเงินได้ดีนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องมีความรู้ทางการเงินมากจึงจะประสบความสำเร็จ แต่จะเกี่ยวข้องอย่างมากกับพฤติกรรมทางการเงิน เพราะความสำเร็จทางการเงินไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์แบบตรงไปตรงมา หนังสือเล่มนี้ใช้การเล่าเรื่องราวสั้น ๆ เพื่อทำให้เห็นว่าทักษะด้านอารมณ์และการบริหารจัดการความคิดนั้นมีความสำคัญมากกว่าความรู้เรื่องการเงิน และนี่คือบทสรุป 5 ข้อคิดจากหนังสือเล่มดังกล่าว ...


1. อิสรภาพทางการเงิน

หลายคนอาจเข้าใจว่า การมีอิสรภาพทางการเงินคือการมีเงินเยอะ แต่ผู้เขียนมีแนวคิดว่า การมีอิสรภาพทางการเงิน คือการที่เราสามารถทำอะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ สามารถใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง สามารถใช้เงินได้โดยที่ไม่ต้องมีความเครียดเข้ามาเกี่ยวข้อง


2. การออม

การสร้างความมั่งคั่งไม่จำเป็นต้องมีรายได้สูงแต่สิ่งที่สำคัญกว่าคืออัตราการออมของเรา เพราะความมั่งคั่งเกิดจากการสะสมของเงินที่เหลือหลังจากใช้จ่าย แม้ผลตอบแทนจากการลงทุนสามารถเพิ่มความมั่งคั่งให้เราได้ แต่กลยุทธ์ในการลงทุนนั้นจะได้ผลนานแค่ไหน และตลาดจะให้ความร่วมมือด้วยหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เราออมเงินได้ คือ การลดช่องว่างระหว่างความอยากได้กับรายได้ของเรา เราจะใช้จ่ายน้อยลงถ้าเรามีความอยากได้ลดลง และความอยากได้ของเราจะลดลงถ้าเราสนใจสิ่งที่คนอื่นคิดกับเราน้อยลง การปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นจะทำให้เราให้มีเงินเหลือออมมากขึ้นได้


3. การลงทุน

การลงทุนที่ดีนั้นไม่จำเป็นจะต้องได้รับผลตอบแทนสูงที่สุด เนื่องจากผลตอบแทนที่ดีที่สุดมาพร้อมกับโชคและความเสี่ยง การลงทุนที่ดีคือการลงทุนแล้วทำให้เรากินอิ่มนอนหลับได้สนิทตลอดทั้งคืน บางคนไม่สามารถนอนหลับสนิทได้จนกว่าจะได้ผลตอบแทนสูงที่สุด บางคนจะหลับสนิทได้อย่างเต็มที่เมื่อลงทุนอย่างระมัดระวัง ต่างคนต่างความคิดจึงควรเลือกลงทุนที่เหมาะกับตนเอง หากต้องการเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ สิ่งเดียวที่คุณทำได้ก็คือการเพิ่มระยะเวลาการลงทุน ดังตัวอย่างของ วอร์เรน บัฟเฟต์ ทักษะของเขาคือไหวพริบในการลงทุน แต่กุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของเขาคือ เวลา เขาเป็นนักลงทุนที่ลงทุนมาเป็นเวลานาน ผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจมามากมาย เขาไม่ตื่นตกใจและขายหุ้นในระหว่างที่เศรษฐกิจหดตัว เขาไม่ได้ยึดติดกับกลยุทธ์ใดกลยุทธ์หนึ่ง เขาไม่ได้พึ่งพาเงินของคนอื่น เขาไม่ก่อหนี้ เขาไม่ได้หมดไฟและล้มเลิก เคล็ดลับความสำเร็จจากการลงทุนของเขา คือ เขาลงทุนอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานเพื่อมีเวลาให้เงินได้ทบต้นทบดอก


4. การตั้งเป้าหมายการออม

เป็นเรื่องที่ดี ไม่ว่าจะออมเงินเพื่อซื้อรถ วางเงินดาวน์บ้าน แต่อย่าลืมการออมเงินโดยไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลในการออมเงิน เพราะยังมีเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้นควรออมเงินเพื่อให้มีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินด้วย และแม้ว่าคุณจะตั้งเป้าหมายออมเงินเพื่ออนาคต แต่อย่าลืมว่าอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน ควรวางแผนเพื่อรองรับหากไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น การวางแผนเกษียณโดยการใช้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยในอดีตเพื่อประมาณการยอดเงินที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่อย่าลืมว่าหากผลตอบแทนในอนาคตไม่เป็นเหมือนในอดีตที่ผ่านมาจะทำอย่างไร ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการตั้งเป้าหมายการเงินโดยคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สุดโต่งเกินไป วิธีที่ดีที่สุดคือการตั้งเป้าหมายการเงินโดยคาดหวังผลตอบแทนให้ต่ำเข้าไว้แล้ววางแผนเพิ่มอัตราการออมมากขึ้นเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ หากผลตอบแทนที่ได้รับจริงสูงกว่าที่คาดไว้ นั่นคือ โบนัส


5. ความมั่งคั่งกับความสุข

หลายคนเข้าใจว่าการมีความมั่งคั่งจะทำให้เรามีความสุข แต่หนังสือ 30 Lessons for Living ของ คาร์ล พิลเลเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ เขาสัมภาษณ์ผู้สูงอายุชาวอเมริกันหนึ่งพันคน เพื่อค้นหาบทเรียนสำคัญจากประสบการณ์ชีวิตหลายสิบปี สรุปได้ว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่บอกว่า สิ่งที่ทำให้มีความสุขมากที่สุด คือ มิตรภาพที่มีคุณภาพและความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ซึ่งการมีมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอยู่กับว่าเราได้ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับพวกเขาหรือไม่ ไม่มีใครเลยที่บอกว่าต้องทำงานให้หนักที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้เอาเงินไปซื้อสิ่งที่ต้องการ ดังนั้นคุณค่าที่แท้จริงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของความมั่งคั่ง คือการที่เรามีเงินเพื่อซื้อเวลาได้ มีเงินใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องกังวล มีเงินสำรองค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน มีทางเลือกในการตัดสินใจมากขึ้นสามารถเลือกทำสิ่งที่เรารักได้ เลือกที่จะหยุดทำงานหรือเกษียณได้ในเวลาที่ต้องการได้


            จาก 5 ข้อคิดข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือ “จิตวิทยาว่าด้วยเงิน” ที่หยิบยกมาฝากเป็นแค่เพียงแนวคิดสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งสรุปได้ว่า ความรู้ด้านการเงินนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือการลงมือทำ พร้อมการควบคุมความอยากของตนเองจะช่วยทำให้เราสามารถควบคุมรายจ่ายและทำให้มีเงินออมเพิ่มขึ้นได้มากกว่าการพยายามหารายได้เพิ่มหรือเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน นอกจากนี้การออมเงินเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน แต่อย่าลืมออมเงินโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลด้วย เพราะเหตุการณ์ในอนาคตล้วนไม่แน่นอน รวมไปถึงการนำเงินออมไปลงทุนเพิ่มผลตอบแทนในแบบที่ทำให้เราไม่กังวลมากเกินไป เพราะการลงทุนมาพร้อมกับโชคและความเสี่ยง หากอยากประสบความสำเร็จด้านการลงทุนต้องมีระยะเวลามากพอรอให้เงินได้มีเวลาทบต้นทบดอกได้ รอได้โดยไม่ตระหนกตกใจในยามที่เกิดวิกฤต แล้วความมั่งคั่งที่แท้จริงจะมาพร้อมกับความสุข