Policies and objectives
Corporate Risk Management Guidelines
Annual Risk report
หน้าหลัก
ภาพการบริหารความเสี่ยง

แนวทางการบริหารความเสี่ยงองค์กร

การบริหารงานของ กบข. มีคณะกรรมการทำหน้าที่และรับผิดชอบต่อการกำหนดนโยบายและกรอบการบริหารองค์กร โดยมีคณะอนุกรรมการธรรมาภิบาล คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบริหารความเสี่ยงและการตรวจสอบช่วยให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการและสำนักงาน ซึ่งถือเป็นกลไกสนับสนุนการทำงานของ กบข. ให้มีประสิทธิภาพมั่นใจได้ว่าครอบคลุมความเสี่ยงและประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องไว้อย่างครบถ้วน

คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงได้กำหนดกรอบกระบวนการบริหารความเสี่ยงเป็นแนวปฏิบัติโดยกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของความเสี่ยงต้องประเมินความเสี่ยงและการควบคุมภายใน (Risk and Control Self-Assessment)ตามแนวทางวิเคราะห์เหตุนำสู่ความเสี่ยง(Root Causes) อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอนับเป็นการกำหนดมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบและทั่วถึง เพื่อให้มั่นใจว่า กบข.มีการบริหารจัดการความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้และมีการกำหนดแนวทางการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ในอนาคต

กบข. กำหนดให้มีกระบวนการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในทุกระดับของการปฏิบัติงานสำหรับติดตามประสิทธิผลของการจัดการความเสี่ยงและการควบคุมภายใน โดยได้จัดทำแม่บทการบริหารความเสี่ยงของ กบข. ขึ้นเพื่อเป็นหลักในการพัฒนาระบบการบริหาร และประเมินความเสี่ยง ซึ่งมี 5 ด้านได้แก่

  1. ความเสี่ยงด้านยุทธศาสตร์ (Strategic Risk)
  2. ความเสี่ยงด้านการลงทุน (Financial Risk)
  3. ความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและภาพลักษณ์องค์กร (Reputation Risk)
  4. ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operation Risk)
  5. ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance Risk)

โดยมีการติดตามสถานะความเสี่ยงเหล่านั้นด้วยการจัดทำรายงาน Risk Dashboard ที่กำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) และค่าเบี่ยงเบนของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Tolerance) สำหรับแต่ละตัวชี้วัดความเสี่ยงขึ้นรายงานให้ผู้บริหารระดับสูง และคณะกรรมการ กบข. รับทราบทุกเดือนเพื่อตอบสนองต่อความเสี่ยงอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม พร้อมกับได้นำหลักการกำกับดูแลตามแนวปฏิบัติสากล Three Lines of Defense มาใช้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงในทุกระดับอย่างเหมาะสม ดังนี้

  • (1) ระดับหน่วยธุรกิจ (First Line of Defense)

    กำหนดให้มีการแบ่งแแยกหน้าที่ระหว่างผู้ปฏิบัติงาน และควบคุมงาน การนำระบบงานมาใช้เพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานที่ถูกต้อง และการจัดให้มีการรายงานข้อมูลทางการเงิน การปฏิบัติงานที่สำคัญให้ผู้บริหารรับทราบอยู่ตลอดเวลา

  • (2) การกำกับดูแลการปฏิบัติงานโดยหน่วยงานทางด้านกำกับ (Second Line of Defense)

    เป็นผู้กำหนดกรอบนโยบายการควบคุมภายในที่ดีให้เป็นไปตามมาตรฐาน และข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • (3) หน่วยงานตรวจสอบภายใน (Third Line of Defense)

    เป็นหน่วยงานอิสระที่รายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ทําหน้าที่ตรวจสอบ ประเมินความเพียงพอของกระบวนการกํากับดูแล การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมของหน่วยงานธุรกิจและหน่วยงานกํากับดูแลอีกครั้ง



เป็นการประเมินสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประกอบกับการวิเคราะห์จุดแข็ง (Strength) จุดอ่อน (Weakness) โอกาส (Opportunity) และอุปสรรค (Threat) หรือที่เรียกว่า SWOT Analysis เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่โดยนำจุดแข็งมาใช้ประโยชน์ร่วมกับโอกาสพร้อมกับลดจุดอ่อนและป้องกันไม่ให้อุปสรรคต่าง ๆ มีบทบาทต่อการทำงานของ กบข. และการมีกระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านยุทธศาสตร์องค์กรอย่างเป็นระบบ ทำให้ กบข. สามารถนำผลวิเคราะห์เหล่านั้นมาพัฒนาเป็นแผนยุทธศาสตร์องค์กรและกลยุทธ์ในการทำงานในแต่ละปีได้อย่างเหมาะสม


เป็นเรื่องการจัดสมดุลระหว่างความปลอดภัยและผลตอบแทนในบริบทของการลงทุนระยะยาวเป็นสำคัญ มีการประเมินผลกระทบต่อการลงทุนของ กบข. ในภาวะการณ์ต่างๆ (Scenario Analysis) และได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อตอบสนองและป้องกันความเสี่ยงต่อเงินกองทุนของ กบข. โดยมีการเฝ้าระวัง และวางกลยุทธ์การลงทุน หรือปรับสัดส่วนการลงทุนระยะยาว (SAA) และการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม อีกทั้งมีการทบทวนตัวชี้วัดความเสี่ยง Tracking Error ของกองทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเหมาะสมของการใช้ความเสี่ยงในการบริหารเงินกองทุนเชิงรุก (Alpha Risk) เพื่อใช้กำหนดกรอบความเสี่ยงของการเบี่ยงเบนออกจากแผนการลงทุนระยะยาว (Strategic Asset Allocation) เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตัวชี้วัด ภายใต้กรอบนโยบายทั้งด้านผลตอบแทนที่คาดหวังและระดับความเสี่ยงที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ การกำหนดแนวทางบริหารความเสี่ยงด้านเครดิตที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของผู้ออกตราสาร และความเสี่ยงของตราสารเฉพาะรายการมีการกำหนดกรอบความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับกองทุน และมีการประเมินความน่าเชื่อถือของคู่ค้าหรือผู้ออกตราสารที่ กบข. ลงทุน และคู่ค้าที่ กบข. ทำธุรกรรมการลงทุน และมีการกำหนดทบทวนคู่มือเครดิตเพื่อให้เหมาะสมเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตที่เกิดจากการที่คู่ค้าหรือผู้ออกตราสารไม่สามารถปฏิบัติตามภาระผูกพัน มีระบบซึ่งสามารถวัดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและสามารถประเมินผลกระทบจากความเสี่ยงที่สอดคล้องกับปริมาณและความซับซ้อนของธุรกรรม รวมถึงมีการประเมินความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในการจ่ายคืนเงินแก่สมาชิกที่พ้นสมาชิกภาพ โดยเฉพาะช่วงที่สมาชิกถึงกำหนดเกษียณในเดือนกันยายนของทุกปี กบข. มีการจัดทำประมาณการกระแสเงินรับ และกระแสเงินจ่ายคืนสมาชิก เพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกจะได้รับเงินคืนตามกำหนดเวลาและไม่กระทบต่อการลงทุนของสมาชิกที่ยังคงอยู่ในกองทุน


กบข. ให้ความสำคัญในเรื่องของจรรยาบรรณและหลักปฏิบัติของพนักงาน การแจ้งเบาะแส และการรับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ อีกทั้งได้จัดให้มีระเบียบ ช่องทาง และกระบวนการจัดการ รวมถึงการติดตามข่าวสารของ กบข. และการตอบสนองต่อข่าวสาร และชี้แจงแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยสม่ำเสมอ เพื่อติดตามและรักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ขององค์กร


กบข. กำหนดให้มีการประเมินการควบคุมภายในกระบวนการทำงานอย่างครบถ้วนทุกฝ่ายงานเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งครอบคลุมการระบุประเภทของการทุจริต (Fraud) ที่อาจเกิดขึ้นได้ในลักษณะงานบางประเภทของสำนักงาน เช่น งานการรับ-จ่ายเงิน งานจัดซื้อจัดจ้าง โดยจัดให้มีการประเมินระดับความเสี่ยง (โอกาส ผลกระทบ) จากกิจกรรมควบคุมที่มีอยู่โดยจะกำหนดแผนปรับปรุง หากพบว่ากิจกรรมการควบคุมที่มีอยู่ไม่เพียงพอ หรือไม่มีประสิทธิผล และมีการติดตามแก้ไขโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวขึ้นในสำนักงาน โดยมีการรายงานให้คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะอนุกรรมการตรวจสอบทราบและพิจารณาผลการประเมิน ทั้งนี้ยังได้จัดเตรียมให้มีช่องทางเพื่อการรับเรื่องร้องเรียน หรือการแจ้งเบาะแสการกระทำทุจริตให้สำนักงานรับทราบอีกด้วย


กบข. มีการพัฒนาระบบงานกำกับการลงทุนเพื่อใช้ในการกำกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านการลงทุน (Investment Compliance) เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนของ กบข. เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ระเบียบ และนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ กบข. มีการจัดทำแนวปฏิบัติด้านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance Program) เพื่อให้ทุกส่วนงานมีแนวทางการกำกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งองค์กร และมีการติดตามทบทวนกฎเกณฑ์และกระบวนการปฏิบัติงานให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ รวมถึงการติดตามกำกับดูแล และจัดทำรายงานเสนอคณะอนุกรรมการตรวจสอบทุกไตรมาส