อนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง
แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ชี้แจงเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564
(พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19 ฉบับที่ 2) กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยเน้นการใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ 3 แผนงาน แต่กรณีที่จำเป็นสามารถปรับกรอบวงเงินภายใต้
3 แผนงานได้เพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์และเพื่อเข้าไปเสริมกับ พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19
ฉบับที่ 1 เมื่อปี 2563 จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่
19 เมษายน 2563)
แผนงานการใช้วงเงินกู้ตาม
พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19 ฉบับที่ 2 มีดังนี้
1. แผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
2019 กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
2. เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
วงเงิน 300,000 ล้านบาท
3. เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
วงเงิน 170,000 ล้านบาท
กู้เพิ่มเพราะงบเดิมมีจำกัด-ไม่พอรับมือโควิด-19
นายอาคม กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่แพร่กระจายและรุนแรง
รัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเตรียมงบประมาณเพิ่มเติม
หรือเสริมเข้าไปกับ พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19 ฉบับที่ 1
เพื่อรองรับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่
เนื่องจากแหล่งเงินงบประมาณที่นำมาใช้แก้ปัญหามีจำกัดและไม่เพียงพอจากการระบาดระลอกใหม่นี้
มั่นใจวงเงินกู้
5 แสนล้านบาทช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น
ทั้งนี้ กรอบวงเงิน พ.ร.ก.กู้เงินช่วยโควิด-19 ฉบับที่ 2 อีก จำนวน 5
แสนล้านบาทนี้ จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 และ ปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก
1.5% จากที่ประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.5-2.5% ต่างจากปีที่แล้ว
ซึ่งได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบที่ -8% แต่เมื่อมีมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือภาคธุรกิจ เช่น เงินกู้ Soft Loan ทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบน้อยลงจาก -8% เป็น
-6% ซึ่งในปีนี้และปีหน้าเมื่อมีเงินก้อนนี้มาใช้ในการดำเนินการต่างๆ
ก็จะน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้น
ยืนยันกู้เงินไม่เกินกรอบเพดานหนี้สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการกู้เงินครั้งนี้รัฐบาลมีการดำเนินการอย่างระมัดระวังไม่ให้เกินกรอบเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้
โดยคาดการณ์ว่าเมื่อกู้เต็มวงเงินในเดือน ก.ย. 2564 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่
58.56% ต่อจีดีพี
รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า ในปี 2563 รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงินไปแล้ว 1.9
ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การเยียวยาฟื้นฟูและด้านสาธารณสุขจำนวน 1 ล้านล้านบาท และอีก
9 แสนล้านบาทเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ
พ.ร.ก.กู้เงิน
5 แสนล้านบาทประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
สำหรับ พ.ร.ก.
ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม
จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564
ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2564 โดยใจความสำคัญเพื่อประโยชน์
ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ยุติลง
โดยให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้
ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 500,000 ล้านบาท
โดยต้องลงนาม ในสัญญากู้เงิน
หรือออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564
------------------------------
อนุมัติให้รถแท็กซี่ป้ายดำรับผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชันได้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน
7 คน หรือแท็กซี่ป้ายดำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
พ.ศ. (แอปพลิเคชัน)
ประโยชน์
- เป็นทางเลือกการให้บริการรถยนต์รับจ้าง สอดคล้องกับลักษณะสังคมและการใช้ชีวิตของประชาชน ที่นิยมเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันมากขึ้น
- หน่วยงานราชการสามารถควบคุมติดตามตรวจสอบ
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารได้และช่วยส่งเสริมให้ผู้ขับรถยนต์สามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ข้อกำหนดผู้ให้บริการ
- ตัวรถมีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รถขนาดเล็ก
ขนาดกลางและขนาดใหญ่
- ผู้ขับขี่ต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและใช้แอปพลิเคชันที่ผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น
- ทำประกันภัยเพิ่มเติมเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้โดยสาร
และติดเครื่องหมายแอปพลิเคชันให้ทราบ
หมายเหตุ : หลัง ครม.
มีมติอนุมัติจะประกาศเป็นกฎกระทรวงภายใน 30 วัน
คาดบังคับใช้ประมาณปลายเดือน มิ.ย.-ก.ค.64
------------------------------
อนุมัติงบ 311 ล้านบาท ให้กรมราชทัณฑ์แก้ปัญหาโควิด-19 ระบาดในเรือนจำ
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติกรอบวงเงิน 311,650,300 บาท
ให้กรมราชทัณฑ์เป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย
- ค่าชุดตรวจไวรัสโควิด-19 แบบ RT PCR จำนวน 100,000 ชุด เป็นเงิน 80 ล้านบาท
- ค่าก่อสร้างโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยวิกฤติในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 2 แห่ง
เป็นเงิน 51,967,200 บาท
- ค่าก่อสร้างโรงพยาบาลสนามประจำเขตกลุ่มเรือนจำและทัณฑสถาน จำนวน 10 แห่ง เป็นเงิน 92,680,000 บาท
- ค่าก่อสร้างและปรับปรุงห้องกักกันโรคประจำเรือนจำและทัณฑสถานจำนวน 65
แห่ง เป็นเงิน 49,835,500 บาท
- ค่าวัสดุอุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน เป็นเงิน 37,167,600 บาท
ส่วนการจัดหายาฟาวิพิราเวียสำหรับผู้ติดเชื้อนั้นให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการตามแนวปฏิบัติ
โดยขอรับการสนับสนุนยาจากกระทรวงสาธารณสุขโดยตรงและเร่งด่วน
ทั้งนี้
เนื่องจากปัญหาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานเกิดการแพร่ระบาดขึ้นหลายแห่ง
จึงจำเป็นต้องก่อสร้างปรับปรุงสถานที่
พร้อมจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อแก้ไขและป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ นายกรัฐมนตรีจึงได้เห็นชอบให้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคติดเชื้อไวรัส
โควิด-19 โดยให้กรมราชทัณฑ์เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม
------------------------------
ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ยกเว้นภาษีเงินได้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่วิสาหกิจเพื่อสังคมและบุคคลที่สนับสนุนกิจการของกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
ประกอบด้วย
-
ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคมและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม
-
ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดาผู้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม
โดยสามารถหักลดหย่อนเงินลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีและสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้
โดยหักรายจ่ายได้ตามจริงเท่าเงินลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม
มาตรการดังกล่าวทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 10 ล้านบาท แต่สร้างประโยชน์ในหลายด้าน
ดังนี้
1. ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมให้ขยายตัวได้มากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขัน
ซึ่งเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวม
2. สอดคล้องกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562
3. ภาคเอกชนสามารถจ้างงานหรือผู้สมควรได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษและแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
(ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฯ
นี้มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66)
เว็บไซต์ของ กบข. มีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยจะทำให้ กบข. เข้าใจลักษณะการใช้งานเว็บไซต์ของ กบข. ของท่าน และทำให้เว็บไซต์ของ กบข. เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์ของ กบข. นี้จะถือว่าท่านได้อนุญาตให้ กบข. ใช้คุกกี้ตาม นโยบายการใช้คุกกี้