ในปี พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการเป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central Provident Fund) นำมาสู่การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โดยกำหนดให้ข้าราชการที่รับราชการก่อนวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ คือวันที่ 27 มีนาคม 2540 สามารถเลือกได้ว่าจะสมัครเป็นสมาชิก กบข. หรือไม่ สำหรับข้าราชการที่เข้ารับราชการหลังวันดังกล่าว ต้องเข้าเป็นสมาชิก กบข. ทุกคนตามที่กฎหมายกำหนด
ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. เมื่อออกจากราชการ หรือ เกษียณอายุราชการ จะได้รับเงินก้อน กบข. และบำเหน็จหรือบำนาญจากส่วนราชการเจ้าสังกัด ซึ่งเงินก้อน กบข. เป็นส่วนผสมระหว่างเงินออมของสมาชิกกับ เงินสมทบและเงินชดเชยจากบำนาญจากรัฐ และผลประโยชน์จากการลงทุนที่ กบข. บริหารจัดการให้
กบข. เป็นองค์กรที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ กบข. ไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และรายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ กบข. เป็นผู้กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งการจัดการกองทุน โดยมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้สอบบัญชี
เงินของกองทุนประกอบด้วย
ทั้งนี้ รัฐต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการประจำปี เข้าบัญชีเงินสำรองทุกปีจนกว่าเงินสำรอง เงินกองกลาง และดอกผลของเงินดังกล่าวจะมีจำนวน 3 เท่าของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการประจำปี หลังจากนั้นให้ตั้งงบประมาณเพื่อให้เงินสำรอง เงินกองกลาง และดอกผล คงระดับ 3 เท่าของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการในแต่ละปี แต่หากมีจำนวนเกิน 3 เท่า ให้ กบข. นำเงินส่วนที่เกินนั้นส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
ข้าราชการที่เข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2540 ทุกคน รวมถึงผู้ซึ่งโอนมาเป็นข้าราชการตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2540 ทุกคนต้องเป็นสมาชิกและส่งเงินสะสมเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
ข้าราชการที่รับราชการอยู่ก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 ให้สมัครเป็นสมาชิกและส่งเงินสะสมได้ตามความสมัครใจ