นโยบายการกำกับดูแลกิจการ
การลงทุนอย่างรับผิดชอบ
การดำเนินการต่อต้านการทุจริต
มาตรการภายในเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต
รายงานผลการประเมิน ITA
หน้าหลัก
ตำแหน่งที่เปิดรับ
กรอกใบสมัคร
สรุปผลการจัดซื้อ-จัดจ้าง
วิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศจำหน่ายทรัพย์สิน
MCS Web
แบบฟอร์ม
งาน กบข.
กิจกรรมต่าง ๆ
ภาพการลงทุนอย่างรับผิดชอบ

มาตรการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม

กบข. ให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อให้การดำเนินงานของกองทุนเป็นไปอย่างโปร่งใส มีมาตรฐาน ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและมีคุณธรรม โดยมีโครงสร้างการบริหารงานและกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ประกาศคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เรื่องมาตรการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2562 ได้กำหนดมาตรการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม

กบข. มีโครงสร้างการบริหารงานและกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ตั้งแต่ระดับคณะกรรมการที่มีการกำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติ และหน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการไว้อย่างชัดเจน ส่วนในระดับของสำนักงานมีกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้พนักงานและลูกจ้างใช้เป็นแนวในการปฏิบัติตน และกำหนดให้มีการกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์และมาตรการที่กำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัด สรุปโครงสร้างตามแผนภาพ ดังนี้

โครงสร้างและมาตรการเหล่านี้ได้กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวมในการปฏิบัติงานของทุกกลุ่มในองค์กร โดยมีรายละเอียด ดังนี้


พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539

ได้กำหนดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อให้ปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุน เช่น


• วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุน 3 ข้อ ได้แก่

  1. เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ
  2. เพื่อส่งเสริมการออมของสมาชิก
  3. เพื่อจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก

• การควบคุมและการบริหารกองทุน

โดยกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการว่าจะต้องประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้แทนสมาชิกที่ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่จะต้องผ่านการคัดเลือกจากประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้แทนสมาชิก และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. กบข. ด้วยนอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการประชุมคณะกรรมการ กบข. โดยกำหนดห้ามมิให้กรรมการผู้ที่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาเข้าร่วมพิจารณาในเรื่องนั้น


• อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กบข. เช่น

การกำหนดนโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งในการบริหารกิจการของกองทุน กำหนดนโยบายการลงทุนของกองทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง การกำกับดูแลการจัดการกองทุน อัตราค่าตอบแทนของกรรมการและอนุกรรมการตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เป็นต้น


คณะกรรมการ กบข.

ให้ความสำคัญกับการบริหารกองทุนอย่างโปร่งใส เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และปราศจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ จึงได้กำหนดนโยบายและมาตรการป้องกัน ดังนี้


• ประกาศคณะกรรมการ กบข. เรื่อง นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

โดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างรอบคอบเพื่อให้การบริหารกิจการของกองทุนเป็นไปอย่างยุติธรรมและโปร่งใสโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของกองทุนและสมาชิกโดยรวมเป็นสำคัญ กำหนดกระบวนการทำงาน หลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของคณะกรรมการเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งกรรมการต้องไม่เป็นกรรมการของกิจการที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับกองทุน โดยกำหนดให้กรรมการแจ้งข้อมูลการดำรงตำแหน่งกรรมการในกิจการทั้งหมดของตนต่อคณะกรรมการผ่านฝ่ายเลขานุการองค์กรเพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลการดำรงตำแหน่งของกรรมการในรายงานประจำปีของกองทุน และให้คณะอนุกรรมการธรรมาภิบาลประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการ และทบทวนความเหมาะสมโดยให้รายงานผลต่อคณะกรรมการทุกปี


• ระเบียบคณะกรรมการ กบข. ว่าด้วยการทำธุรกรรมเกี่ยวกับหลักทรัพย์ของผู้ปฏิบัติงานในกองทุนและบุคคลในครอบครัว

เพื่อป้องกันการนำข้อมูลภายในของกองทุนไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลและป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกองทุนกับผลประโยชน์ส่วนบุคคล โดยระเบียบฯ นี้ใช้บังคับกับผู้ปฏิบัติงานซึ่งหมายรวมถึงเลขาธิการ พนักงานของกองทุน คู่สมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้ปฏิบัติงานด้วย โดยระเบียบฯ ได้แบ่งกลุ่มผู้ปฏิบัติงานออกเป็น 2 กลุ่มและแบ่งหลักทรัพย์ออกเป็น 3 กลุ่มตามโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ อีกทั้งได้กำหนดแนวปฏิบัติการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ปฏิบัติงานในแต่ละกรณีไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งกำหนดให้ฝ่ายกำกับกิจกรรมองค์กรมีหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบและการรายงานผลตามลำดับชั้นจนถึงคณะอนุกรรมการตรวจสอบและคณะอนุกรรมการธรรมาภิบาล ตลอดจนการดำเนินการทางวินัยกับผู้ปฏิบัติงานที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีธุรกรรมที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือเกิดผลเสียกับการปฏิบัติงานให้แก่กองทุน


• ระเบียบคณะกรรมการ กบข. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การให้พนักงานไปปฏิบัติงานในหน่วยงานภายนอก

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้กับกองทุน รวมทั้งป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากการไปปฏิบัติงานในหน่วยงานภายนอก คณะกรรมการ กบข. จึงได้ออกระเบียบฯ นี้ขึ้นซึ่งครอบคลุมถึงกรณีการพิจารณาเสนอบุคคลไปเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาในบริษัทที่ กบข. ลงทุน และกรณีที่พนักงานได้รับเชิญไปเป็นกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงานหรือที่ปรึกษาในหน่วยงานอื่น โดยกำหนดขั้นตอนการอนุมัติแต่งตั้งให้พนักงานไปเป็นกรรมการในแต่ละกรณี การรายงานและการทบทวนความเหมาะสมในการไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วนงานภายนอกเป็นประจำ


สำนักงาน

เห็นความสำคัญของการดำเนินกิจการโดยปราศจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เลขาธิการจึงได้กำหนดกฎเกณฑ์และมาตรการต่างๆ เพื่อให้เลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างใช้เป็นแนวปฏิบัติ ดังนี้


• ประกาศ กบข. เรื่อง จรรยาบรรณของพนักงานและลูกจ้าง

ที่ได้กำหนดหลักปฏิบัติในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เช่น ไม่ประกอบธุรกิจหรือรับงานในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับกองทุน ไม่เรียกรับหรือไม่รับเงินหรือสิ่งของใด และหลีกเลี่ยงการเลี้ยงรับรองที่มีมูลค่าสูงหรือบ่อยครั้ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้กำหนดหลักการในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการพัสดุและการจัดหาอื่นใดของกองทุน และเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบป้องกันพนักงานจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ จึงกำหนดให้พนักงานต้องแจ้งข้อมูลการถือกรรมสิทธิ์ในหลักทรัพย์ของนิติบุคคลใดเกินกว่าร้อยละสิบหรือมีอำนาจลงนามผูกพันทั้งของพนักงานและบุคคลในครอบครัวตามแบบฟอร์มที่กำหนดส่งให้ฝ่ายกำกับกิจกรรมองค์กรเมื่อเริ่มปฏิบัติงานให้กับ กบข. หรือเมื่อข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลง


• ประกาศ กบข. เรื่อง มาตรการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์

ที่ได้กำหนดหลักปฏิบัติเพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานและบุคคลภายนอกที่ไม่มีความจำเป็นหรือไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ให้เข้าถึงข้อมูลภายในของ กบข.ให้มีการกำกับและการตรวจสอบการทำธุรกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานที่เข้าถึงข้อมูลภายในใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือบุคคลภายนอก