เกี่ยวกับ กบข.
โครงสร้างองค์กร
สถิติสำคัญ
หน้าหลัก
ตำแหน่งที่เปิดรับ
กรอกใบสมัคร
สรุปผลการจัดซื้อ-จัดจ้าง
วิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศจำหน่ายทรัพย์สิน
MCS Web
แบบฟอร์ม
งาน กบข.
กิจกรรมต่าง ๆ
ภาพเกี่ยวกับ กบข.

แผนการบริหารงาน

แผนยุทธศาสตร์กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (พ.ศ. 2564 - 2566) เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นภายใต้ 3 กรอบยุทธศาสตร์ ได้แก่ กรอบโมเดลกองทุนบำนาญยั่งยืน (Sustainable Pension Fund Model) กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และภารกิจ กบข. ตาม พ.ร.บ. กบข. พ.ศ. 2539 ดังนี้

 

กรอบโมเดลกองทุนบำนาญยั่งยืนเป็นกรอบยุทธศาสตร์ที่ประยุกต์จาก Mercer Global Pension Index ที่ Mercer ใช้สำหรับคำนวณ Index ของกองทุนบำนาญของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยกำหนดเกณฑ์วัดไว้เป็น 3 กลุ่มสำคัญคือ
  1. ความเพียงพอ (Adequacy) น้ำหนักความสำคัญ 40%
  2. ความยั่งยืน (Sustainability) น้ำหนักความสำคัญ 35%
  3. ความซื่อสัตย์และจริยธรรม (Integrity) น้ำหนักความสำคัญ 25%
การกำหนดน้ำหนักความสำคัญที่ต่างกันสะท้อนให้เห็นความสำคัญว่า “ความเพียงพอ” คือสิ่งสำคัญสูงสุดที่กองทุนบำนาญต้องตระหนักเพราะนั่นคือภารกิจความรับผิดชอบหลัก (Fiduciary Duty) ที่กองทุนมีต่อสมาชิก แผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้พัฒนาด้วยความตระหนักในการบริหารเงินสะสมสมาชิกโดยมีเป้าหมายเพื่อ “ทวีค่าเงินออม” ด้วยการบริหารจัดการลงทุนและกลไกสื่อสารกระตุ้นให้สมาชิกเห็นความสำคัญของการทวีค่าเงินออมผ่านบริการออมเพิ่มและแผนลงทุนของ กบข. เป็นสำคัญ
ในส่วน “ความยั่งยืน” ซึ่งมีน้ำหนักสำคัญเป็นลำดับรองลงมานั้น มีความหมายเป็น 2 นัยยะ
  • นัยยะที่ 1: หมายถึง ความยั่งยืนของเงินในกองทุนที่จะต้องดำรงอยู่จนสมาชิกคนสุดท้ายถอนเงินทั้งหมดออกไปจากกองทุน
  • นัยยะที่ 2: หมายถึง การบริการกองทุนโดยตระหนักความสำคัญของการสร้าง “ทุนสังคม (Social Capital)” คู่ขนานไปกับการสร้าง “ผลตอบแทนจากการลงทุน” (Investment Returns) สาระสำคัญก็คือกองทุนบำนาญมีสถานะเป็นนักลงทุนสถาบัน (Institutional Investor) มีบทบาทเป็นเจ้าของสินทรัพย์ลงทุน (Asset Owner) ถือเป็นผู้มีอำนาจต่อรองสูงสุดในกลไกห่วงโซ่แห่งคุณค่าการลงทุน (Investment Value Chain) กองทุนบำนาญจึงสามารถมีบทบาทชี้นำแนวทางบริหารองค์กร และบริหารธุรกิจให้ดำเนินไปอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล และสิทธิมนุษยชน (Environment, Social, Governance and Human Rights) คู่ขนานไปกับสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน (Investment Returns)
สำหรับ “ความซื่อสัตย์และจริยธรรม” นั้นหมายถึงการที่กองทุนบำนาญต้องบริหารภายใต้การยึดมั่นถือมั่นในหลักธรรมาภิบาล มีการกำหนดแนวปฏิบัติ ระบบตรวจสอบ และแนวทางบริหารงานที่ยึดหลักการ “แบ่งแยกอำนาจความรับผิดชอบ” (Segregation of Duty) และ “ตรวจสอบและถ่วงดุล” (Check and Balance) สิ่งเหล่านี้จะต้องระบุให้ชัดเจนเป็นเอกสารและมีการผสมผสาน (Integrate) เข้าไปในทุกกระบวนการลงทุนและบริหารองค์กร



ประเทศไทยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ เป็นเป้าหมายพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน อันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ตามระยะเวลาที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติและตระหนักในภารกิจกองทุน ว่าควรเป็นไปในแนวทางสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ กบข. ฉบับนี้จึงกำหนดขึ้นโดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ในข้อ 4.1.1 ที่ระบุว่า “ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการออมและการลงทุนระยะยาวเพื่อเพิ่มความสามารถในการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจของประชาชนทุกกลุ่ม”




พ.ร.บ. กบข. กำหนดภารกิจ สำคัญไว้ 3 ประการ ดังนี้

  1. เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบําเหน็จบํานาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ
  2. เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก
  3. เพื่อจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก

ภายใต้ 3 กรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มีเป้าหมายเพื่อผลักดันองค์กรด้วยแผนยุทธศาสตร์ใน 3 ด้าน คือ ด้านลงทุน ด้านสมาชิก และด้านบริหารองค์กร ให้ กบข. เป็นกองทุนบำนาญแห่งความภาคภูมิใจของสมาชิกและคนไทยว่ามีมาตรฐานในการดำเนินงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก ทั้งในด้านกระบวนการทำงาน แนวทางบริหารเงินกองทุนที่เน้นสร้างผลตอบแทนยั่งยืนระยะยาวสำหรับสมาชิกและความยั่งยืนของทรัพยากรโลก