หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้การออมเงินไม่สำเร็จตามเป้าหมาย
คือ เริ่มออมเงินช้าเกินไป โดยเฉพาะหากเกิดจากการผัดวันประกันพรุ่ง จากวันเป็นเดือน…จากเดือนเป็นปี….และอาจเลยเถิดไปจนถึงวันที่ต้องพูดว่า
“ถ้ารู้งี๊…” และแม้หลายคนจะตั้งอกตั้งใจออมเพียงใด แต่พอเงินเดือนออกก็ต้องมีเหตุให้ได้ใช้จ่ายเงินออกไปก่อนที่จะได้เก็บออมทุกที
ซึ่งหากเราตกอยู่ในภาวะเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีเงินไม่เพียงพอใช้เมื่อยามเกษียณ
ซึ่งวัดได้จากเงินก้อนขั้นต่ำที่พึงมี ณ วันที่เกษียณอายุราชการ และอัตราการทดแทนรายได้ต่อเดือนที่เหมาะสมต่อการรักษาระดับการดำรงชีพหลังเกษียณนั่นเอง
สำหรับสมาชิก กบข.
แม้จะมีเงินบำนาญที่ได้รับจากรัฐเป็นรายเดือนหลังจากเกษียณแล้ว
การออมกับ กบข. อย่างต่อเนื่องเมื่อยังรับราชการอยู่จะช่วยให้สมาชิกมีเงินออมก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งไว้ใช้หลังเกษียณ
ซึ่งเงินก้อนนี้สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพหลังเกษียณได้
โดยเฉพาะเวลาที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
หรือมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินก้อนที่มีจำนวนมากกว่าเงินบำนาญรายเดือนเพียงอย่างเดียว
แต่จะออมอย่างไรให้ทันกับภาวะเงินเฟ้อหรือภาวะที่ค่าเงินลดลงแต่ราคาสินค้ากลับสูงขึ้น
เพื่อให้เพียงพอกับแนวโน้มของค่าใช้จ่ายในอนาคต เราจึงต้องบริหารเงินให้งอกเงยผ่านเทคนิคการออม
คือ “ออมให้เร็ว” และ “ออมให้มากพอ” ซึ่งการออมกับ กบข. ถือเป็นการออมแบบอัตโนมัติ
เพราะเมื่อเงินเดือนออกก็จะถูกหักนำส่งมายังกองทุนทันที แล้วคุณจะรู้ว่าพลังที่ซ่อนเร้นอยู่ในรูปแบบการออมแบบอัตโนมัตินี่แหล่ะที่สร้างความสำเร็จมานักต่อนัก
ซึ่งปัจจุบัน กบข. มีเครื่องมือที่ช่วยทวีค่าเงินออมให้กับสมาชิกด้วยการเปิดโอกาสให้สมาชิกออมเพิ่มได้มากขึ้นจากอัตราการออมปกติตามที่กฎหมายกำหนดขั้นตํ่า
3% ของเงินเดือน ซึ่งคุณสามารถออมเพิ่มได้อีกตั้งแต่ 1 ถึง 12% ของอัตราเงินเดือน (และในอนาคตมากถึง
27% ของอัตราเงินเดือนเมื่อร่างแก้กฎหมายของ กบข. ผ่านและมีผลบังคับใช้) และรู้หรือไม่ว่าแม้การเริ่มออมเพียงแค่ 1% ของเงินเดือนก็สามารถช่วยสร้างอนาคตวัยเกษียณของคุณได้
ตัวอย่างอัตราการออมที่คำนวณเป็นจำนวนเงินตามฐานเงินเดือนต่าง
ๆ ในตารางต่อไปนี้
จากตารางข้างต้น ยกตัวอย่างสมาชิกได้รับเงินเดือน
30,000 บาท ถ้าสมาชิกเลือกออมเพิ่ม 1% คือหักเงินนำส่งเพิ่มอีกเพียง 300
บาท/เดือน และเมื่อรวมกับเงินสะสม 3% ตามกฎหมาย (900 บาท/เดือน) เท่ากับสมาชิกได้มีการออม 1,200 บาท/เดือน
เป็นเงินต้นนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนทวีคูณด้วยพลังมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้นซึ่งจะอธิบายในเคล็ด(ไม่)ลับของการออมเพิ่มดังต่อไปนี้
แนะนำเคล็ด(ไม่)ลับ “ออมเพิ่ม”
เริ่มออมเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะการออมมีผลตอบแทน ดังนั้นยิ่งเริ่มต้นออมเร็วเท่าไหร่ เงินก็จะยิ่งงอกเงยมากขึ้นเท่านั้น เพราะนอกจากจะมีระยะเวลาในการสะสมเงินออมได้ยาวนานแล้ว การออมเพิ่มยังช่วยให้ได้โอกาสรับเงินก้อนโตขึ้นจากพลังของดอกเบี้ยทบต้น พลังของดอกเบี้ยทบต้น คือ การนำเงินต้นมาบวกรวมกับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นเงินต้น เพื่อใช้คิดคำนวณดอกเบี้ยที่จะได้รับของงวดถัดไป เช่นเดียวกับเงินออม กบข. ที่สมาชิกนำส่งในทุกเดือน นอกจากจะนำมารวมในเงินต้นของสมาชิกแล้ว ยังถูกนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนให้กับสมาชิก ทำให้ยอดเงินในบัญชีของสมาชิกโตขึ้นในระยะยาวอย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ที่ทำให้เกิดพลังดอกเบี้ยทบต้น คือ อัตราดอกเบี้ย เวลา และการนำดอกเบี้ยมาลงทุนเพิ่ม ยิ่งเวลาผ่านไป นานเท่าไหร่ ผลตอบแทนก็จะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ
ออมเพิ่มในจังหวะหน่วยลงทุนราคาถูก
ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดลงทุนผันผวนทั่วโลกที่ส่งผลกระทบให้มูลค่าหรือราคาต่อหน่วยลงทุนของ
กบข. (NAV/Unit) มีราคาลดลง ซึ่งเป็นการผันผวนในช่วงระยะเวลาหนึ่งตามลักษณะธรรมชาติของการลงทุนที่มี
‘หุ้น’ เป็นส่วนผสม สมาชิกอาจมองเป็น
โอกาสอันดีสำหรับ ‘เงินใหม่’ ที่จะสะสมเพิ่มเติมด้วยการ “ออมเพิ่ม” ในช่วงเวลที่หน่วยลงทุนมีราคาถูกเพื่อสะสมหน่วยลงทุนที่มากขึ้นหรือทำกำไรเมื่อหน่วยลงทุนปรับตัวดีขึ้นในระยะยาว
โดยเงินจำนวนที่เท่ากันถ้าออมเพิ่มในช้วงเวลาที่สถานการณ์การลงทุนปกติ หน่วยลงทุน 1
หน่วยอาจมีราคาประมาณ 25 บาท ซึ่งเงินจำนวน 100 บาท จะซื้อได้เพียง 4 หน่วยลงทุน แต่ถ้าในช่วงเวลาที่มูลค่า
NAV/Unit ลดลง เช่น สมมุติว่าหน่วยลงทุนลดลงไปอยู่ที่ราคา 20 บาท เงินจำนวน 100 บาท จะสามารถซื้อได้ถึง 5 หน่วยลงทุน ซึ่งถือเป็นโอกาสในการสะสมจำนวนหน่วยลงทุนที่มากกว่านั่นเอง อย่าลืมว่าการออมกับ
กบข. เป็นการออมระยะยาว
สมาชิกจะได้รับเงินคืนเมื่อเกษียณอายุราชการ
โดยระหว่างที่ยังรับราชการอยู่นั้นจึงเป็นโอกาสที่จะได้สะสมจำนวนหน่วยลงทุนต่อไปเรื่อยๆ
ออมเพิ่มด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้น
เราจะรู้สึกเบาใจขึ้นทันทีถ้าหากการออมที่มากขึ้นไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายเดิมที่มีอยู่ ดังนั้นถือเป็นจังหวะที่ดีเมื่อเงินเดือนขึ้น หรือมีรายได้เพิ่ม เพียงแค่ตัดใจเอาเงินส่วนนั้นมาออม การออมก็กลายเป็นเรื่องง่ายทันที เพราะไม่ต้องลำบากลดรายจ่ายปัจจุบันเพื่อแบ่งมาออมนั่นเอง ซึ่งสมาชิกสามารถที่จะใช้เงินเดือนส่วนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดมาออมเพิ่ม หรือแบ่งเพียงบางส่วน และอีกส่วนเก็บไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็ได้
ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้
เงินออม 3% ตามกฎหมาย
กับเงินที่สมาชิกออมเพิ่ม สามารถนำมาลดหย่อนภาษีในแต่ละปีได้ เมื่อรวมกับ RMF
และประกันบำนาญแล้วไม่เกิน 500,000 บาท
ช่องทางแจ้งความประสงค์ออมเพิ่ม
ช่องทางที่ 1
แจ้งโดยตรงที่หน่วยงานต้นสังกัดโดยกรอกแบบฟอร์ม กบข. อพ-001/2559
ช่องทางที่ 2
แจ้งทางแอป กบข. MY GPF Application
ช่องทางที่ 3
แจ้งทางไลน์ กบข. @GPFcommunity
ช่องทางที่ 4 แจ้งทางเว็บไซต์ กบข. www.gpf.or.th
อย่ามัวรอให้วันพรุ่งนี้กลายเป็นวันที่สายเกินไป
เพราะอนาคตวัยเกษียณของคุณสำคัญกว่าใคร ออมเพิ่ม…เริ่มได้เลย! (ออมเพิ่มแล้วอย่าลืมเลือกแผนการลงทุนให้เหมาะกับตัวเองด้วยนะ)