หนี้ประเภทสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย
สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด ผ่อนชำระบัตรเครดิต
มีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งคือมีการคำนวณดอกเบี้ยแบบ “ลดต้นลดดอก”
โดยดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายอิงจากยอดเงินต้นคงเหลือในงวดก่อนหน้า
ซึ่งหากมียอดคงเหลือเยอะ
เงินค่างวดที่ผ่อนแต่ละเดือนจะถูกหักไปจ่ายดอกเบี้ยเสียเป็นส่วนใหญ่
ส่วนที่เหลือจึงนำไปลดเงินต้น หากเราไม่ให้ความสำคัญเร่งปลดหนี้ให้หมดโดยเร็วแล้ว
จะทำให้มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงและผ่อนยาวนาน
สำหรับผู้ที่ต้องการจัดการหนี้ประเภทลดต้นลดดอกให้หมดโดยเร็ว
เทคนิคสำคัญคือ การเร่งผ่อนชำระให้มากกว่ายอดขั้นต่ำที่กำหนด
เพื่อให้เงินค่างวดแต่ละเดือนไปลดส่วนของเงินต้นได้มากขึ้น
วิธีการนี้สามารถทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ อย่างในกรณีของการปลดหนี้บ้านนั้น ศูนย์ข้อมูลการเงิน
กบข. ได้ทำประมาณการผลลัพธ์ของการผ่อนสินเชื่อบ้านวงเงิน 1 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี
พบว่าหากเพิ่มยอดการผ่อนอีกเดือนละ 10% จากยอดขั้นต่ำ (เช่น
กำหนดให้ชำระขั้นต่ำ 5,000 บาท ผู้กู้ผ่อนชำระจริงที่ 5,500 บาท) จะทำให้ลดระยะเวลาการผ่อนลงจาก 30 ปี เหลือ 25 ปี และภาระดอกเบี้ยจ่ายโดยรวมที่อาจสูงถึง 9.3
แสนบาทจะลดลงมาที่ 7.5 แสนบาท
และหากเพิ่มยอดการผ่อนอีกเดือนละ 20% จากยอดขั้นต่ำ
จะทำให้สามารถปลดหนี้ได้ภายใน 20 ปีเศษ
และลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลงเหลือราว 6.3 แสนบาทเท่านั้น
กรณีนี้ไม่ซับซ้อนเท่าใดนัก เนื่องจากมีหนี้เพียงรายการเดียว
แต่หากมีหนี้ตั้งแต่สองรายการขึ้นไป
คำถามที่มักพบคือจะเลือกหนี้ตัวไหนที่จะปลดให้หมดก่อนดี
คำแนะนำจากศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข.
คือให้ทำการแจกแจงหนี้ที่มีอยู่ โดยการเขียนข้อมูลง่ายๆ เช่น
ชื่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ยอดผ่อนต่อเดือนที่สถาบันการเงินกำหนด ภาระหนี้คงค้าง
และอัตราดอกเบี้ยต่อปี หลังจากนั้นให้นำมาพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ดังนี้
กรณีหนี้แต่ละรายการมีดอกเบี้ยแตกต่างกันมาก
เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16 ถึง 28 ต่อปี กับสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยร้อยละ 5 ถึง 7 ต่อปี แนะนำให้เล็งเป้าปลดหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลก่อน
โดยใช้การแบ่งเงินออมแต่ละเดือนมาผ่อนเพิ่มเติม
หรือนำเงินรายได้พิเศษอื่นมาจัดการโปะหนี้ โดยยังคงชำระหนี้ตัวอื่น ๆ
ตามยอดขั้นต่ำที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้กำหนด
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากการผิดนัดชำระหนี้รายการอื่น
กรณีหนี้แต่รายการดอกเบี้ยไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
เช่น อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16 กับร้อยละ 18 ต่อปี จากตัวอย่างในตาราง อาจคิดว่าการผ่อนหนี้สถาบันการเงิน ข.
น่าจะช่วยประหยัดดอกเบี้ยได้มากกว่า
ด้วยเหตุที่อัตราดอกเบี้ยและฐานเงินต้นอยู่ในระดับสูง
แต่หากพิจารณาอีกมุมหนึ่ง ถ้าเรานำเงินส่วนเพิ่มไปเล็งเป้าลดภาระหนี้ของสถาบันการเงิน
ก. จะสามารถปิดหนี้ได้ในเวลาที่รวดเร็วกว่า และเมื่อปิดหนี้ได้หนึ่งตัวแล้ว
ข้อดีคือจะทำให้เรามีเงินเหลือเป็นสภาพคล่องเพิ่มขึ้นอย่างมากในแต่ละเดือน
ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ทั้งการดำรงชีพทั่วไปหรือนำไปผ่อนเพิ่มกับสถาบันการเงิน
ข. ในภายหลังได้อีก นอกจากนี้
การปิดหนี้ลงได้หนึ่งตัวจะเป็นการสร้างกำลังใจว่าเราสามารถทำได้
ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงปลดหนี้
อีกทั้งควรเพิ่มเติมวินัยด้านการเงินในช่วงเป็นหนี้ควบคู่กันไปด้วย
4 เรื่อง ดังนี้
(1) ซื้อของด้วยเงินสด
เป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ภายใต้เงินที่มีอยู่เป็นวิธีแบบดั้งเดิมที่ทำให้เราฝึกความอดทน
ปรับเปลี่ยนนิสัยทางการเงินไม่ให้ใช้เงินแบบวู่วาม
(2) ออมก่อนใช้อย่างสม่ำเสมอ
เมื่อมีรายได้เข้ามาในแต่และเดือนให้ออมอย่างน้อย 10%
ของรายได้ ถือว่าเป็นการผ่อนเงินค่าการเกษียณของตนเอง
(3) เตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน
ควรมีเงินก้อนเตรียมไว้ในรูปเงินสดหรือเงินฝากออมทรัพย์อย่างน้อย 3
เท่าของรายจ่ายต่อเดือนเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาก็มีเงินไว้ใช้ไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม
(4) ใช้ชีวิตแบบพอเพียง
ดำเนินชีวิตด้วยความเรียบง่าย ไม่ก่อหนี้ ไม่ฟุ้งเฟ้อ
วิถีชีวิตด้านการเงินแบบใหม่นี้เป็นทางที่ยั่งยืนในการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเองและครอบครัว
ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน กบข.
ได้จัดทำ “คู่มือจัดการหนี้” เพื่อให้ความรู้และแนวทางการจัดการหนี้ที่ถูกต้อง
โดยในคู่มือจะมีตัวอย่างการบันทึกบัญชีรายจ่ายและตัวอย่างการบันทึกแจกแจงหนี้
รวมทั้งเทคนิคการจัดการหนี้ประเภทต่าง ๆ
สมาชิกหรือผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่เว็บไซต์ กบข. www.gpf.or.th ทั้งนี้ สมาชิกสามารถขอคำแนะนำแนวทางปลดหนี้เพิ่มเติมได้ที่อีเมล fa@gpf.or.th
หรือ นัดหมายปรึกษา ผ่าน My GPF Application
เมนู “นัดหมายปรึกษา”
เว็บไซต์ของ กบข. มีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยจะทำให้ กบข. เข้าใจลักษณะการใช้งานเว็บไซต์ของ กบข. ของท่าน และทำให้เว็บไซต์ของ กบข. เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์ของ กบข. นี้จะถือว่าท่านได้อนุญาตให้ กบข. ใช้คุกกี้ตาม นโยบายการใช้คุกกี้