เกี่ยวกับ กบข.
โครงสร้างองค์กร
สถิติสำคัญ
หน้าหลัก
ตำแหน่งที่เปิดรับ
กรอกใบสมัคร
วิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง
ความก้าวหน้าการจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศจำหน่ายทรัพย์สิน
MCS Web
แบบฟอร์ม
งาน กบข.
กิจกรรมต่าง ๆ
ภาพเกี่ยวกับ กบข.
ประวัติกองทุน

ในปี พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการเป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลาง (Central Provident Fund) นำมาสู่การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โดยกำหนดให้ข้าราชการที่รับราชการก่อนวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ คือวันที่ 27 มีนาคม 2540 สามารถเลือกได้ว่าจะสมัครเป็นสมาชิก กบข. หรือไม่ สำหรับข้าราชการที่เข้ารับราชการหลังวันดังกล่าว ต้องเข้าเป็นสมาชิก กบข. ทุกคนตามที่กฎหมายกำหนด

ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. เมื่อออกจากราชการ หรือ เกษียณอายุราชการ จะได้รับเงินก้อน กบข. และบำเหน็จหรือบำนาญจากส่วนราชการเจ้าสังกัด ซึ่งเงินก้อน กบข. เป็นส่วนผสมระหว่างเงินออมของสมาชิกกับ เงินสมทบและเงินชดเชยจากบำนาญจากรัฐ และผลประโยชน์จากการลงทุนที่ กบข. บริหารจัดการให้

  1. เป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ
  2. ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก
  3. จัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก

กบข. เป็นองค์กรที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ กบข. ไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และรายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ กบข. เป็นผู้กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งการจัดการกองทุน โดยมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้สอบบัญชี

  1. ด้านลงทุน : นำเงินที่รับจากสมาชิกและส่วนราชการไปลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายและนโยบายที่คณะกรรมการกำหนด
  2. ด้านสมาชิก : ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารฐานข้อมูลสมาชิก การจัดสรรผลประโยชน์จากการลงทุน การประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่สมาชิก รวมถึงการจ่ายเงินและผลประโยชน์คืนให้แก่สมาชิกเมื่อพ้นสมาชิกภาพ

เงินของกองทุนประกอบด้วย

  1. เงินสะสม คือ เงินออมของสมาชิก ส่วนราชการจะทำการหักจากเงินเดือนของสมาชิกเพื่อนำส่ง กบข. เพื่อนำเข้าบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือน ปัจจุบันกฎหมายกำหนดอัตราเงินสะสมขั้นต่ำร้อยละ 3 ของเงินเดือนสมาชิกออมเพิ่มได้เมื่อรวมกับเงินสะสมขั้นต่ำต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินเดือน
  2. เงินสมทบ คือ เงินที่รัฐจ่ายสมทบให้กับสมาชิกที่ออมเงินสะสม ส่วนราชการจะเป็นผู้เบิกจากงบประมาณรายจ่ายของรัฐในอัตราที่เท่ากับอัตราเงินสะสมขั้นต่ำ (ร้อยละ 3 ของเงินเดือน) ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือนนำส่ง กบข. เพื่อนำเข้าบัญชีรายบุคคลของสมาชิก
  3. เงินประเดิม คือ เงินที่รัฐส่งเข้าบัญชีเงินรายบุคคลของสมาชิกที่รับราชการอยู่ก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 ที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก กบข. ตามสูตรที่กำหนด และให้ กบข. จ่ายเงินดังกล่าวออกให้แก่สมาชิก เมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพและเลือกรับบำนาญ
  4. เงินชดเชย คือ เงินที่รัฐจ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายของรัฐเข้าบัญชีรายบุคคลของสมาชิก ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินเดือน ในอัตราร้อยละ 2 ของเงินเดือน และให้ กบข. จ่ายเงินดังกล่าวออกให้แก่สมาชิก เมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพและเลือกรับบำนาญ
  5. เงินสมาชิกพ้นสมาชิกภาพ คือ เงินของสมาชิกที่สิ้นสุดสมาชิกภาพได้แจ้งความประสงค์ให้กองทุนบริหารเงินต่อหรือขอทยอยรับ โดยกองทุนจะบริหารเงินที่ยังไม่ได้ขอรับคืนต่อไปได้
  6. เงินสำรอง คือ เงินที่รัฐจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายของรัฐส่งเข้าบัญชีเงินสำรองที่ กบข. เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการจ่ายบำเหน็จบำนาญให้แก่ข้าราชการ ในกรณีเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐอาจตราพระราชกฤษฎีกาสั่งให้ กบข. นำเงินสำรองส่งกลับคืนเป็นรายได้แผ่นดิน เพื่อรัฐนำไปจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และรัฐต้องจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อชดเชยส่วนที่นำออกไปคืน กบข. ในปีงบประมาณถัดไป

    ทั้งนี้ รัฐต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการประจำปี เข้าบัญชีเงินสำรองทุกปีจนกว่าเงินสำรอง เงินกองกลาง และดอกผลของเงินดังกล่าวจะมีจำนวน 3 เท่าของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการประจำปี หลังจากนั้นให้ตั้งงบประมาณเพื่อให้เงินสำรอง เงินกองกลาง และดอกผล คงระดับ 3 เท่าของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการในแต่ละปี แต่หากมีจำนวนเกิน 3 เท่า ให้ กบข. นำเงินส่วนที่เกินนั้นส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

  7. เงินกองกลาง คือ เงินบริจาค เงินตามบัญชีเงินรายบุคคลที่ไม่มีผู้รับ เป็นเงินส่วนกลางที่มิใช่ของสมาชิกคนใด

ข้าราชการที่เข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2540 ทุกคน รวมถึงผู้ซึ่งโอนมาเป็นข้าราชการตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2540 ทุกคนต้องเป็นสมาชิกและส่งเงินสะสมเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

ข้าราชการที่รับราชการอยู่ก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 ให้สมัครเป็นสมาชิกและส่งเงินสะสมได้ตามความสมัครใจ

สมาชิก กบข. ประกอบด้วยข้าราชการ 14 ประเภท
  1. ข้าราชการพลเรือน
  2. ข้าราชการฝ่ายตุลาการ
  3. ข้าราชการฝ่ายอัยการ
  4. ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
  5. ข้าราชการรัฐสภาสามัญ
  6. ข้าราชการตำรวจ
  7. ข้าราชการทหาร
  8. ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
  9. ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง
  10. ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
  11. ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
  12. ข้าราชการในพระองค์
  13. ข้าราชการซึ่งโอนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น
  14. ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ