สำหรับผู้ที่มีการกู้สินเชื่อบ้าน
ในช่วงแรกของการกู้นั้นอาจมีดอกเบี้ยต่ำและเป็นดอกเบี้ยแบบคงที่ 1 ปีแรก 2 ปีแรก
หรือดอกเบี้ยคงที่ทั้ง 3 ปี แต่หลังจากนั้นดอกเบี้ยจะปรับเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัวและมักจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าในช่วง
3 ปีแรกของการกู้
โดยอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวนั้นจะมีการระบุในสัญญาเป็นลักษณะที่มีดอกเบี้ยอ้างอิง (MRR) ตัวอย่าง ในช่วง 3 ปีแรกของการกู้มีภาระดอกเบี้ยคงที่ 3% แต่เมื่อครบ 3
ปีแล้วดอกเบี้ยจะปรับขึ้นมาเป็น MRR-2% หมายถึงถ้า MRR
ของธนาคารที่กู้นั้นคือ 7%
จะทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ในอัตราใหม่ที่ 5% (7%-2%)
ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเรามีวิธีที่จะประหยัดดอกเบี้ยได้ 2
วิธีคือ การทำเรื่องขอลดดอกเบี้ยกับธนาคารเดิม (Retention) ซึ่งอาจจะขอลดได้บ้างเล็กน้อยหรือไม่สามารถขอลดดอกเบี้ยได้
เนื่องจากบางธนาคารนั้นไม่มีนโยบายลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้าเดิม
แต่มีอีกวิธีหนึ่งที่จะกล่าวถึงในบทความนี้นั่นก็คือการรีไฟแนนซ์
การรีไฟแนนซ์ คืออะไร
การรีไฟแนนซ์ (Refinance) เป็นการขอกู้เงินจากธนาคารใหม่
เพื่อนำไปชำระหนี้เดิมที่มีอยู่กับธนาคารเดิม
แล้วย้ายมาผ่อนชำระกับธนาคารแห่งใหม่แทน โดยเราจะประหยัดรายจ่าย
เนื่องจากได้รับสินเชื่อใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยน้อยลงกว่าเดิม
เรายังสามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนให้ยาวออกไปได้อีก ซึ่งจะทำให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนลดลง
โดยที่หากช่วยไหนมีเงินเหลือก็สามารถผ่อนได้มากกว่าขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด
สิ่งที่ต้องเช็คก่อนรีไฟแนนซ์ให้ดู 2 เรื่อง
เรื่องแรก ดูเงื่อนไขสัญญาก่อนรีไฟแนนซ์
ส่วนใหญ่ธนาคารจะระบุลงไปในสัญญาเงินกู้เลยว่า ภายใน 3 ปี (หรือ 5 ปี) นับจากวันที่ทำสัญญา
หากผู้กู้ชำระคืนเงินกู้และดอกเบี้ยหมดก่อนเวลาที่กำหนด
โดยนำเงินกู้จากธนาคารอื่นมาชำระหนี้ (Refinance) ผู้กู้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ
3 ของยอดหนี้คงค้าง ดังนั้นต้องระวังเรื่อง
การผิดข้อตกลงในสัญญาจะทำให้ต้องเสียค่าปรับ
เรื่องที่สอง
เปรียบอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของแต่ละสถาบันการเงิน
โดยปัจจัยสำคัญสำหรับการรีไฟแนนซ์คือ “อัตราดอกเบี้ย”
ซึ่งหากสามารถหาสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยได้ยิ่งต่ำยิ่งดี
สำหรับการเปรียบเทียบดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารสามารถสอบถามได้จากสาขา หรือเช็คข้อมูลได้จากเว็บไซต์สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่าง
ๆ ส่วนสมาชิก กบข. นั้นสามารถนัดหมายสอบถาม ศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. ได้
ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของการรีไฟแนนซ์ ได้แก่ ค่าประเมินราคาบ้าน (ประมาณ 3,000 บาท ) ค่าจดจำนอง จ่ายให้กรมที่ดิน 1% ของวงเงินกู้ ค่าอากรแสตมป์
0.05% ของวงเงิน ค่าประกันอัคคีภัย (โดยปกติต้องทำทุก 1-3 ปี)
อาจมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ของธนาคาร
และเมื่อรวมค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แล้ว
การกู้กับธนาคารไหนประหยัดได้มากที่สุดก็ควรเลือกกู้กับธนาคารนั้น
อีกทั้งมีธนาคารหลายแห่งที่เสนอข้อตกลงพิเศษเพิ่มมาอีก เช่น ฟรีค่าประเมิน
ฟรีค่าจดจำนอง เป็นต้น ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ลดลงนี่เอง
จะทำให้ผู้ที่รีไฟแนนซ์ได้รับประโยชน์ โดยดูรายละเอียดได้ดังนี้
แนวทางการคำนวณความคุ้มค่าการรีไฟแนนซ์
ตัวอย่าง เรามีหนี้บ้านที่ผ่อนกับธนาคาร ก.
มาครบกำหนด 3 ปีแล้ว มียอดหนี้คงค้างอยู่ที่ 2 ล้านบาท
กำลังพิจารณาเรื่องการรีไฟแนนซ์ โดยจะกู้ธนาคาร ข. ในวงเงินเท่ากับยอดหนี้เดิม
โดยให้มีระยะเวลาการผ่อนไม่เกิน 20 ปี โดยจะคำนวณค่าใช้จ่ายเฉพาะในช่วง 3
ปีแรกของการกู้เท่านั้น เนื่องจากหลังจากนี้จะเปรียบเทียบเพื่อรีไฟแนนซ์รอบใหม่อีกครั้ง
กรณีที่ (1) ผ่อนต่อกับธนาคาร ก. โดยที่ไม่สนใจรีไฟแนนซ์ โดยธนาคาร ก. ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็น 5% ต่อปี ผ่อนเดือนละประมาณ 13,200 บาท ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ไปประมาณ 286,000 บาท และมีค่าใช้จ่ายประกันอัคคีภัย (3 ปี) อีก 5,000 บาท มีค่าใช้จ่ายรวมคือ 291,000 บาท
กรณีที่ (2) รีไฟแนนซ์กับ ธนาคาร ข.
อัตราดอกเบี้ย 3% ผ่อนเดือนละประมาณ 13,200 บาทเท่ากัน ในช่วง 3
ปีแรกจะมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยประมาณ 170,000 บาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้แก่
ค่าประเมินราคาบ้าน 3,000 บาท, ค่าจดจำนองจ่ายให้กรมที่ดิน
1% ของวงเงินกู้ จำนวน 20,000 บาท ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงิน 1,000 บาท
ค่าประกันอัคคีภัย (3 ปี) 5,000 บาท มีค่าใช้จ่ายรวมคือ 199,000 บาท
แม้จะมีความยุ่งยากในการทำเอกสารบ้าง
แต่จะเห็นจากตัวอย่างได้ว่าการรีไฟแนนซ์นั้นสามารถทำให้ประหยัดเงินในช่วง 3
ปีได้ถึง 92,000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งผู้ที่สนใจรีไฟแนนซ์ควรต้อง (1)
ตรวจสอบเงื่อนไขการรีไฟแนนซ์กับสัญญาเงินกู้เดิม (2)
เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายทั้งจากดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของแต่ละสถาบันการเงิน
(3) ศึกษาเงื่อนไขรายละเอียดของสัญญาเงินกู้ใหม่ก่อนตัดสินใจรีไฟแนนซ์นะครับ
สำหรับสมาชิก กบข. ที่ต้องการปรึกษาเรื่องการบริหารจัดการหนี้ สามารถนัดหมายศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน กบข. ได้ที่ My GPF Application เมนู “นัดหมายปรึกษา” หรืออีเมล fa@gpf.or.th
เว็บไซต์ของ กบข. มีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยจะทำให้ กบข. เข้าใจลักษณะการใช้งานเว็บไซต์ของ กบข. ของท่าน และทำให้เว็บไซต์ของ กบข. เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์ของ กบข. นี้จะถือว่าท่านได้อนุญาตให้ กบข. ใช้คุกกี้ตาม นโยบายการใช้คุกกี้