การออมเพื่อเกษียณไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงิน กบข. สำหรับข้าราชการที่เป็นสมาชิก
ช่วยให้ผู้ออมสามารถสะสมเงินก้อนใหญ่เพื่อนำไปใช้จ่ายในช่วงวัยหลังเกษียณ
และเมื่อถึงวันเกษียณ ก็เป็นจุดเปลี่ยนจากการสะสมออมเงิน
มาเป็นการถอนเงินจากการลงทุนเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
การวางแผนเกษียณสำหรับการถอนเงินใช้ยามเกษียณนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้การออมเงินเพื่อการเกษียณ
การบริหารเงินหลังเกษียณจึงเน้นให้ความสำคัญกับ
การวางแผนการทยอยถอนเงิน (Distribution Plan) ให้เพียงพอตลอดช่วงเวลาหลังเกษียณ
ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือจัดการเอง (Manual)
ซึ่งทำได้โดยการทยอยถอนเงินหรือขายหน่วยลงทุนในจำนวนและเวลาที่ตนเองต้องการ
ซึ่งปัญหาที่มักพบคืออาจมีการทยอยถอนเงินเป็นจำนวนมากในช่วงวัยเกษียณช่วงเริ่มต้น
ทำให้มีเงินไม่พอใช้ในช่วงเกษียณตอนปลาย
ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้เกษียณแล้วด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ
รูปแบบที่สองซึ่งเป็นรูปแบบที่แนะนำ
คือแบบอัตโนมัติ (Automatic) โดยระบุจำนวนเงินที่ต้องการได้รับไว้ล่วงหน้า
เช่น บริการ “ออมต่อ” ของ กบข. นั้น
สมาชิกที่เกษียณอายุราชการแล้วสามารถฝากเงินให้ กบข. บริหารต่อ
และยื่นความประสงค์ทยอยถอนเงินออกจากกองทุนเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายครึ่งปี
รายปีได้ ตามจำนวนที่ต้องการ
สำหรับผู้ที่มีเงินออมรูปแบบกองทุนรวม
สามารถติดต่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.)
เพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนรวมประเภทที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ
(Auto
Redemption) เนื่องจากกองทุนรวมประเภทนี้จะมีการขายคืนหน่วยลงทุนให้กับผู้ลงทุนเพื่อที่ผู้ลงทุนจะได้มีกระแสเงินสดไว้ใช้จ่าย
ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอีกแบบที่น่าสนใจและนำมาประยุกต์ใช้ได้คือ
ประกันแบบบำนาญ
ซึ่งเป็นแบบประกันที่ผู้ซื้อกรมธรรม์จะได้รับเงินรายงวดจำนวนที่แน่นอนในช่วงหลังเกษียณ
โดยสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินเป็นรายเดือนหรือรายปี
โดยแบบประกันบำนาญของบริษัทประกันหลายแห่ง
สามารถชำระเบี้ยเพียงครั้งเดียวตอนเกษียณ โดยมีอายุรับทำประกันตั้งแต่อายุ 55 ปีจนถึงอายุ 64 ปี
และทยอยรับเงินไปจนครบอายุสัญญากรมธรรม์ (ขึ้นอยู่กับแต่ละแบบประกัน เช่น
ครบสัญญาเมื่อผู้เอาประกันอายุครบ 85 ปี 90 ปี หรือ 99 ปี เป็นต้น)
กรณีตัวอย่างการคำนวณการใช้เงินหลังเกษียณ
สมมติว่าต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 20,000 บาท
เป็นเวลา 25 ปีหลังเกษียณ จะต้องใช้เงินเป็นจำนวนรวม 6 ล้านบาท (คำนวณจาก 20,000 บาทต่อเดือน คูณ 12 เดือน คูณ 25 ปี)
หากเป็นการเก็บสะสมในเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้ดอกเบี้ย 0.5%
จะต้องมีเงินฝากรอไว้ ณ วันเกษียณ 5.6 ล้านบาท
หากลงทุนในกองทุนรวมที่ได้รับผลตอบแทน 3% ต่อปี
จะต้องมีเงินลงทุนกองทุนรวม ณ วันเกษียณประมาณ 4.3 ล้านบาท
กรณีทำประกันแบบบำนาญ จะใช้เงินจ่ายค่าเบี้ยประกันจำนวน 4
ล้านบาท (ค่าเบี้ยประกันแต่ละแบบแตกต่างกันตามอายุและแบบประกัน
โปรดศึกษาทำความเข้าใจเงื่อนไขผลิตภัณฑ์)
ทั้งนี้ประกันบำนาญมักมีกำหนดเงื่อนไขจ่ายเงินแต่ละงวดของประกันบำนาญ
คือจะจ่ายเมื่อกรมธรรม์มีอายุครบ 1 ปี
ดังนั้นจึงต้องเตรียมเงินสดไว้ 240,000 บาท (คำนวณจาก 20,000 บาทต่อเดือน คูณ 12 เดือน)
เพื่อใช้จ่ายในช่วงปีแรกของการเกษียณ ดังนั้นจึงต้องเตรียมเงินไว้รวมเป็น 4.24 ล้านบาท
วิธีการพิจารณาประกันบำนาญ คือ เอาจำนวนเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย
หารด้วยจำนวนเงินที่ได้รับต่อปี ซึ่งจะทำให้ทราบว่าจุดคุ้มทุนมีระยะเวลากี่ปี
ตัวอย่าง ประกันบำนาญกำหนดว่าเบี้ยประกันชำระครั้งเดียว 2 ล้านบาท ผู้เอาประกันจะได้เงินบำนาญตั้งแต่อายุ 61
ปี ไปจนถึงอายุ 85 ปี เป็นจำนวนต่อปี 120,000 บาท ซึ่งจะทำให้แบบประกันนี้มีจุดคุ้มทุน ณ ปีที่ 16 (คำนวณจาก 2 ล้าน หารด้วย 120,000 บาท) หากผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนจุดคุ้มทุน
ผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับเบี้ยประกันที่ชำระไปให้แก่บริษัทประกัน
หักด้วยเงินบำนาญที่ผู้เอาประกันได้รับไปแล้ว แต่หากผู้เอาประกันเสียชีวิตหลังปีที่
16 ซึ่งผลรวมของเงินบำนาญที่ได้รับมากกว่าเบี้ยประกันที่ชำระ
บริษัทประกันจะไม่มีการจ่ายผลประโยชน์กรณีเสียชีวิต
ข้อควรทราบอีกประการของประกันบำนาญคือสามารถเวนคืนกรมธรรม์ได้
แต่จะต้องเวนคืนก่อนช่วงที่บริษัทประกันจะจ่ายบำนาญออกมา
และเมื่อบริษัทประกันจ่ายเงินบำนาญแล้วจะไม่สามารถเวนคืนกรมธรรม์ได้
ดังนั้นต้องศึกษาเงื่อนไขรายละเอียดของแบบประกันอย่างละเอียดรอบคอบ
และมั่นใจว่าจะไม่ต้องใช้เงินก้อนนี้ก่อนจะตัดสินใจทำประกัน
ประกันบำนาญนั้นทำให้เรามั่นใจว่าจะมีเงินใช้จ่าย
โดยไม่ต้องกังวลกับสภาวะเศรษฐกิจหรือการขึ้นลงของอัตราดอกเบี้ยและถ้าหากเราอยู่ไม่ครบสัญญาลูกหลานเราก็ยังได้รับเงินอีกด้วย
สำหรับสมาชิก กบข. หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมด้านการเกษียณ
หรือข้อมูลด้านอื่นๆ
เพื่อประกอบการตัดสินใจทางการเงินสามารถนัดหมายศูนย์ข้อมูลการเงินได้ที่ เมนู
นัดหมายบริการข้อมูลการเงิน ใน My GPF Application
เว็บไซต์ของ กบข. มีการใช้งานคุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยจะทำให้ กบข. เข้าใจลักษณะการใช้งานเว็บไซต์ของ กบข. ของท่าน และทำให้เว็บไซต์ของ กบข. เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์ของ กบข. นี้จะถือว่าท่านได้อนุญาตให้ กบข. ใช้คุกกี้ตาม นโยบายการใช้คุกกี้