บริการสมาชิก
บริการดิจิทัล
แผนการลงทุน
ออมเพิ่ม
ออมต่อ
สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก
ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน
ความรู้คู่การออม
ปฏิทินกิจกรรม
วารสาร กบข.
แบบฟอร์มต่างๆ
คู่มือหรือมาตรฐานการให้บริการ
หน้าหลัก
ตำแหน่งที่เปิดรับ
กรอกใบสมัคร
วิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง
ความก้าวหน้าการจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศจำหน่ายทรัพย์สิน
MCS Web
แบบฟอร์ม
งาน กบข.
กิจกรรมต่าง ๆ
ภาพบริการสมาชิก

รวมคำศัพท์น่ารู้สำหรับนักลงทุน "กองทุนรวม"





            


เชื่อว่าสมาชิก กบข. หลายคนคงพอคุ้นเคยผ่านหูผ่านตากันมาบ้างกับการลงทุนในกองทุนรวม แต่สำหรับนักลงทุนมือใหม่แค่จะหาข้อมูลในการลงทุนก็ว่ามึนแล้ว ยังต้องมานั่งงงงวยกับคำศัพท์เฉพาะทางแบบเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ยิ่งเกิดความสับสนกันไปใหญ่ จนไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี บทความนี้จะชวนมาทำความรู้จักกัคำศัพท์น่ารู้สำหรับการลงทุนในกองทุนรวม ที่จะต้องเจอและใช้กันบ่อยๆ ซึ่งถ้าหากเราเข้าใจก็จะยิ่งช่วยให้การลงทุนกลายเป็นเรื่องง่ายและไม่สับสนอีกต่อไป  

 

Fund Fact Sheet (หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปของกองทุน) คือเอกสารที่ระบุข้อมูลสำคัญของกองทุน เพื่อให้นักลงทุนได้ศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจซื้อกองทุนนั้นๆ โดยใน Fund fact Sheet จะบอกข้อมูลรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับกองทุนรวมนั้นๆ เช่น ประเภทของกองทุน ความเสี่ยง นโยบายการลงทุน สัดส่วนของสินทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุน ผลตอบแทนย้อนหลัง และข้อมูลสำคัญอื่นๆ เป็นต้น  

 

NAV/Unit (มูลค่าต่อหน่วย) คือมูลค่าหรือราคาที่บอกว่ากองทุนรวมหนึ่งหน่วยราคาเท่าไหร คำนวณมาจากการนำมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งประกอบด้วยทรัพย์สินที่กองทุนรวมถือครองอยู่และผลประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจากกรลงทุน หักด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุนรวม (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (NAV : Net Asset Value) แล้วนำมาหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุนนั้น (มูลค่าต่อหน่วย (NAV/Unit) = มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (NAV) ÷ จำนวนหน่วย ทั้งหมด) โดยปกติแล้วในทุกสิ้นวันทำการมีจะการคํานวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาด (Mark to Market) เพื่อสะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริง ซึ่งเราอาจจะเห็นตัวเลขที่มันเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดที่ได้เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน 

ตัวอย่าง กองทุนรวม A มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (NAV) 40 ล้านบาท และมีหน่วยลงทุนทั้งหมด 1,300,000 หน่วย  

มูลค่าต่อหน่วย (NAV/Unit) = 40 ล้านบาท ÷ 1,300,000 หน่วย = 30.7692 บาท  

จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่ากองทุนรวม A มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) อยู่ที่ 40 ล้านบาท และมูลค่าต่อหน่ว (NAV/Unit) คือ 30.7692 บาท ซึ่งตัวเลข 30.7692 จะใช้เป็นราคาหรือมูลค่าสำหรับซื้อหรือขายหน่วยของกองทุนในวันนั้น  

 

Benchmark (ดัชนีชี้วัด) คือตัวชี้วัดหรือเกณฑ์มาตรฐานของกองทุนที่ใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานหรือผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนรวม โดยมีลักษณะสินทรัพย์หรือความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์คล้ายคลึงกัน หรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าค่าเฉลี่ยของตลาด ซึ่งแต่ละประเภทสินทรัพย์จะมี Benchmark ที่แตกต่างไปตามนโยบายการลงทุน ยกตัวอย่างดังนี้  

  • กองทุนรวมตราสารหนี้ : Total Return Index, ThaiBMA MTM Government Bond Index 0-10 ปี, Zero Rate Return ( ZRR) Bond Index เป็นต้น 

  • กองทุนรวมตราสารทุนหรือกหุ้น : ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แก SET TRI, SET50 Index, SET100 Index เป็นต้น  

  • กองทุนรวมต่างประเทศ : MSCI World Index,  MSCI Emerging Markets Total Return Index, Bloomberg Commodity Index Total Return เป็นต้น 

  • กองทุนรวมทองคำ : SPDR Gold Share  

  • กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ : PF&REIT Total Return Index  

การกำหนด  Benchmark เป็นดัชนีในการเปรียบเทียบจะทำให้ผู้ลงทุนได้ทราบว่ากองทุนรวมที่ถืออยู่นั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าหรือต่ำกว่าผลตอบแทนของตลาดมากน้อยเพียงใด ซึ่งผลตอบแทนของกองทุนรวมอาจจะไม่เท่ากับดัชนีชี้วัดเสมอไป เนื่องจากสินทรัพย์ที่ลงทุนในกองทุนอาจไม่เหมือนกับดัชนีชี้วัด หรือหากกองทุนรวมนั้นมีกลยุทธ์การลงทุนแบบ Active ที่พยายามจะชนะดัชนีชี้วัด ดังนั้นในบางครั้งกองทุนรวมอาจจะชนะหรือแพ้ดัชนีชี้วัดก็เป็นได้ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่มักใช้ดัชนีชี้วัดเป็นแนวทางในการตัดสินใจลงทุน  

 

Peer performance (อัตราผลตอบแทนของกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์ และนโยบายการลงทุนคล้ายกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน) คือการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนที่เราสนใจกับกองทุนอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันในช่วงเวลาเดียวกัน โดยการนำข้อมูลผลตอบแทนและความผันผวนของแต่ละกองทุนมาเรียงลำดับแล้ววัดออกมาเป็นเปอร์เซ็นไทล์ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ 

 

5th Percentile ผลการดำเนินงานของกองทุนดีอยู่ใน 5% แรกของกลุ่ม (Top 5 Performance)  

25th Percentile ผลการดำเนินงานของกองทุนดีอยู่ใน 25% แรกของกลุ่ม (Top 25 Performance)  

50th Percentile ผลการดำเนินงานของกองทุนเฉลี่ยค่ากลางของข้อมูล คือที่ 50% (Median Performance)  

75th Percentile ผลการดำเนินงานของกองทุนอยู่ในกลุ่ม 25% ของกลุ่มรั้งท้าย (Bottom 25 Performance)  

95th Percentile ผลการดำเนินงานของกองทุนยู่ในกลุ่ม 5% ของกลุ่มรั้งท้าย (Bottom 5 Performance)  

การเปรียบเทียบลักษณะนี้จะทำให้รู้ว่ากองทุนรวมที่เราถืออยู่หรือที่เรากำลังสนในั้นมีผลดำเนินการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร อยู่ระดับไหนของกลุ่มเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ ในประเภทหรือมีนโยบายการลงทุนคล้ายกัน 

 

Capital Gain (กำไรส่วนต่างจากการลงทุน) คือ กำไรที่ได้หรือส่วนต่างจากการลงทุนในกองทุนรวม ที่เกิดขึ้นจากจากส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาขาย 

 

Stop Loss (จุดตัดการลงทุน) คือ การตั้งจุดตัดเพื่อไม่ให้ราคาหลักทรัพย์ในพอร์ตลดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งขณะที่ทำการ Stop Loss นั้น นักลงทุนอาจขาดทุน หรือได้กำไรอยู่ในขณะที่ขายก็ได้ แต่เป็นการขายออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้กำไรสะสมลดลงกว่าที่เคยเป็นหรือขาดทุนมากยิ่งขึ้น 

 

DCA: Dollar-Cost-Average (การลงทุนแบบถัวเฉลี่ย) คื รูปแบบการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยหรือทยอยลงทุนเป็นงวดๆ ด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กัน ในช่วงระยะเวลาหนึ่งอย่างต่อเนื่อง เช่น ลงทุนทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน หรือ ลงทุนในช่วงต้นเดือนหลังจากเงินเดือนออกโดยไม่สนใจราคาตลาด ทำให้นักลงทุนได้ซื้อกองทุนที่มีราคาต้นทุนแบบ “ถัวเฉลี่ย” และช่วยลดความเสี่ยงของการลงทุนในกองทุนที่มีความผันผวนมากๆ เหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ที่ยังไม่สามารถจับจังหวะการลงทุนได้ หรือผู้ลงทุนที่มีเงินลงทุนจำนวนไม่มาก หรือผู้ที่ต้องการออมเงินและลงทุนอย่างสม่ำเสมอ  

 

สำหรับการลงทุนใน กบข. ก็เป็นการลงทุนคล้ายกองทุนรวมโดยมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารจัดการลงทุนให้ ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะยาวเพื่อเกษียณ โดยสมาชิกจะมีการนำส่งเงินรายเดือนในระหว่างที่ยังรับราชการเข้ามายังกองทุนฯ ซึ่ง กบข. จะนำเงินไปซื้อหน่วยในแผนการลงทุนที่สมาชิกเลือก และสะสมเป็นจำนวนหน่วยในบัญชีของสมาชิก ทำให้สมาชิกลงทุนแบบถัวเฉลี่ยหรือที่เรียกว่า DCA ทำให้มีโอกาสได้ต้นทุนเฉลี่ยและมีแนวโน้มได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว โดยสมาชิกจะขายหน่วยได้เมื่อเกษียณหรือออกจากราชการแล้วเท่านั้น แต่ในระหว่างทางสมาชิกสามารถเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ ซึ่งการเปลี่ยนแผนการลงทุนก็เป็นการขายหน่วยลงทุนของแผนการลงทุนเดิมเพื่อนำเงินไปซื้อหน่วยของแผนการลงทุนใหม่  

 

มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าการได้รู้จักและทำความเข้าใจคำศัพท์เหล่านี้มีประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งคำศัพท์ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่รวบรวมมาฝาก เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการหาข้อมูลการลงทุนในกองทุนรวมและการลงทุนกับ กบข. ดังนั้น หากสมาชิกเห็นว่ามีประโยชน์สามารถส่งต่อให้เพื่อนๆ ได้รู้ไปด้วยกัน หรือจะจดจะเซฟไว้เป็นความรู้ติดตัวได้เลย! รับรองว่านำไปใช้ประโยชน์ได้แน่นอน