บริการสมาชิก
บริการดิจิทัล
แผนการลงทุน
ออมเพิ่ม
ออมต่อ
สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก
ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน
ความรู้คู่การออม
ปฏิทินกิจกรรม
วารสาร กบข.
แบบฟอร์มต่างๆ
คู่มือหรือมาตรฐานการให้บริการ
หน้าหลัก
ตำแหน่งที่เปิดรับ
กรอกใบสมัคร
วิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง
ความก้าวหน้าการจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศจำหน่ายทรัพย์สิน
MCS Web
แบบฟอร์ม
งาน กบข.
กิจกรรมต่าง ๆ
ภาพบริการสมาชิก

เลือกแผนการลงทุน กบข. อย่างเข้าใจ…ได้อะไรเมื่อเกษียณ




           


คุณเคยสงสัยไหมว่ารุ่นพี่ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว นอกจากเงินบำนาญที่ได้รับจากภาครัฐ พวกเขาเหล่านี้มีเงินเก็บอีกก้อนหนึ่งที่ได้จาก กบข. เป็นกอบเป็นกำได้อย่างไร บทความฉบับนี้ จะมาบอกเทคนิคการบริหารเงินออมเพื่อการเกษียณของเงินก้อนนี้ เพื่อให้คุณได้รู้ว่าหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้ใครหลายคนสามารถบรรลุเป้าหมายการออมกับ กบข. ได้นั้น มาจากการเริ่มลงมือทำสิ่งสำคัญเพียงไม่กี่อย่าง 

 

        ก่อนอื่น สมาชิก กบข. ต้องเข้าใจว่าเงินส่วนที่หน่วยงานหักออกจากเงินเดือนของคุณในอัตราขั้นต่ำ 3% ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อนำส่งมายัง กบข. ทุกเดือนนั้น “ไม่ใช่รายจ่าย” แต่เป็นเงินออมระยะยาวเพื่อการเกษียณที่จะได้รับคืนกลับไปเมื่อเกษียณอายุหรือออกจากราชการ ซึ่งในระหว่างที่ยังรับราชการอยู่นั้นเงินออมก้อนนี้ก็ไม่ได้ถูกเก็บไว้เฉยๆ แต่ กบข. จะทำหน้าที่นำไปบริหารจัดการลงทุนให้เพื่อให้ได้ผลตอบแทน และสมาชิกยังสามารถวางแผนเพิ่มมูลค่าให้กับเงินออมก้อนนี้ได้ด้วย “บริการออมเพิ่ม และ “บริการแผนทางเลือกการลงทุน” ซึ่งปัจจุบัน กบข. เปิดโอกาสให้สมาชิกออมเพิ่มได้ถึง 27% และมีแผนการลงทุนให้สมาชิกเลือกมากถึง 12 แผน เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของสมาชิกกว่า 1.2 ล้านคน และนี่คือหนึ่งในเทคนิคสำคัญของการบริหารเงิน กบข. ที่สมาชิกหลายคนอาจยังไม่รู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก เพราะที่ผ่านมายังมีสมาชิก กบข. กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ (ข้อมูล ณ เมษายน 2566) ที่ไม่เคยเลือกหรือเปลี่ยนแผนการลงทุนเลยตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิก ทำให้สมาชิกกลุ่มนี้เสียโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นตามระยะเวลาลงทุนหรือตามช่วงอายุของสมาชิกในระหว่างที่ยังรับราชการ

 

แม้ว่าปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดให้สมาชิกที่บรรจุใหม่ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป หากไม่ใช้สิทธิ์เลือกแผนการลงทุน กบข. จะกำหนดให้แผนสมดุลตามอายุสัดส่วนใหม่ที่มีหลักการลงทุน “อายุน้อยเสี่ยงมาก อายุมากเสี่ยงน้อย” เป็นแผนการลงทุนเริ่มต้นไปจนกว่าสมาชิกจะแจ้งเปลี่ยนแผนการลงทุนใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมาชิกทุกคนควรพิจารณาเลือกแผนการลงทุนที่ตอบโจทย์เป้าหมายการเงินในอนาคตของตนเองด้วยความเข้าใจ เพราะผลตอบแทนของแต่ละแผนการลงทุนย่อมแตกต่างกันไปตามระดับความเสี่ยงและสินทรัพย์ที่ลงทุน ซึ่งสมาชิกเองก็สามารถบริหารเงินออมหรือเงินลงทุนที่มีใน กบข. ได้ เพียงแค่ลองพิจารณาข้อควรรู้สำคัญของการเลือกแผนการลงทุนต่อไปนี้ด้วยความเข้าใจ

 

       1. ทำความเข้าใจ “การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง” ดังนั้นความผันผวนของราคาจึงเป็นเรื่องปกติ ยิ่งผันผวนมากก็เสี่ยงมาก ผลตอบแทนที่ได้ก็มีโอกาสได้มากกว่า ผันผวนน้อยก็เสี่ยงน้อย ผลตอบแทนที่ได้ก็มีโอกาสได้น้อยกว่า และไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยงเลยเพราะแม้แต่ถือเงินสดไว้มูลค่าเงินในวันนี้ก็จะลดลงได้ในอนาคตหรือทำให้อำนาจซื้อลดลงจากอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น นอกจากนี้วัฏจักรของตลาดลงทุนยังมีทั้งจุดต่ำสุด (Market Bottom) ตลาดขาขึ้น (Bull Market) จุดสูงสุด (Market Top) และตลาดขาลง (Bear Market) แต่หากเข้าใจการลงทุนจะทำให้ไม่ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และอย่าลืมว่า กบข. เป็นการลงทุนระยะยาว สมาชิกจะได้รับเงินคืนเมื่อเกษียณอายุราชการ โดยระหว่างที่ยังรับราชการอยู่นั้นเงินที่นำส่งเข้ามายัง กบข. คือการสะสมจำนวนหน่วยลงทุนไปเรื่อยๆ ซึ่งในจังหวะที่ตลาดทุนปรับลดลงหากสมาชิกเข้าใจและยอมรับความผันผวนได้ก็ถือเป็นโอกาสที่จะได้ซื้อหน่วยลงทุนในราคาถูกทำให้สามารถสะสมจำนวนหน่วยได้มากขึ้นนั่นเอง 

 

2. ทำความเข้าใจ “ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง (Ability to Take Risk) และความยินดีในการรับความเสี่ยง (Willingness to Take Risk)ซึ่งสองสิ่งนี้มีความแตกต่างกัน โดยปัจจัยที่กำหนดความสามารถในการรับความเสี่ยง คือ อายุ รายได้ และระยะเวลาการลงทุน สิ่งเหล่านี้จะบอกว่าสมาชิกสามารถลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดได้บ้าง ในขณะที่ความเต็มใจในการรับความเสี่ยง หมายถึง ทัศนคติ ความชอบหรือความสนใจในสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภท ซึ่งจะบอกว่าคุณเหมาะกับสินทรัพย์ประเภทนั้นๆ หรือไม่ เช่น สมาชิกที่อายุยังน้อยจะสามารถรับความเสี่ยงได้สูงเพราะมีระยะเวลาลงทุนอีกนาน จึงสามารถลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อย่างหุน อสังหาริมทรัพย์ได้ แต่หากไม่ยินดีที่จะรับความเสี่ยงที่มากไปนัก ก็จะเหมาะกับการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ ตราสารหนี้ หรือผสมสัดส่วนระหว่างตราสารหนี้กับหุ้น โดยลงทุนในหุ้นที่สัดส่วนไม่มากนักเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง ดังนั้น ทำความรู้จักตัวเองเพื่อให้รู้ว่าคุณยอมรับและเต็มใจรับความเสี่ยงหรือความผันผวนจากการลงทุนได้แค่ไหน จะได้เลือกแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับคุณได้มากที่สุดนั่นเอง

 

       3. ทำความเข้าใจ “แผนการลงทุน กบข.” ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถเลือกได้หลากหลาย สมาชิกจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจว่าแผนการลงทุนนั้นๆ มีนโยบายการลงทุนอย่างไร ลงทุนในสินทรัพย์ใด สัดส่วนการลงทุนแต่ละสินทรัพย์เป็นเท่าไหร่ ซึ่งหากคุณจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ด้วยความรู้ความเข้าใจก็ยิ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น ทั้งนี้หากอยากรู้ว่าแผนการลงทุนใดเหมาะกับตนเอง สมาชิกสามารถทำประเมินความเสี่ยงได้ที่แอป กบข. โดยผลการประเมินจะแนะนำแผนการลงทุนที่เหมาะสมในแต่ละระดับความเสี่ยง เพื่อเป็นทางเลือกให้สมาชิกตัดสินใจ และหากสมาชิกต้องการศึกษารายละเอียดของแผนการลงทุนสามารถดูข้อมูลได้ที่ www.gpf.or.th สำหรับสมาชิกยังไม่แน่ใจ กบข. มีบริการให้คำปรึกษาส่วนบุคคล เพียงเข้าแอป กบข. เลือกเมนู “นัดหมายปรึกษา” และกดเลือกหัวข้อ “เลือกแผนการลงทุน” จากนั้นกดเลือกวันและเวลาทำการที่สะดวก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับตามวันนัดหมายโดยไม่ต้องรอนานและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

 

4. ทำความเข้าใจ “อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังหรือต้องการ” สมาชิกอาจเริ่มต้นพิจารณาจากผลตอบแทนในอดีตของแผนการลงทุนนั้นๆ ว่าผลตอบแทนเป็นอย่างไรเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกแผนการลงทุน แต่ขอย้ำว่า “ผลตอบแทนในอดีต ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคต” จากนั้นพิจารณาว่าแผนการลงทุนปัจจุบันหรือแผนการลงทุนเริ่มแรกของสมาชิกที่ไม่เคยใช้สิทธิ์เลือกแผนการลงทุนเลยยังเป็นแผนที่ตรงกับเป้าหมายการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนได้ตามที่คุณคาดหวังไว้หรือไม่

 

       5. ทำความรู้จัก เมนู “My GPF & My GPF Twins” วันนี้สมาชิกสามารถมองเห็นภาพวัยเกษียณของคุณได้ชัดเจนขึ้นผ่านแอป กบข. ที่เมนู “My GPF & My GPF Twins” กับคอนเซ็ปต์ I Choose, My Choices “รู้ ลอง เลือก เพื่อเกษียณที่ดีกว่า” สมาชิกจึงสามารถบริหารเงิน กบข. ได้อย่างเข้าใจเพื่อบรรลุเป้าหมายวันเกษียณที่ดีกว่าจากทางเลือกหลากหลายที่ กบข. ออกแบบให้ โดยเมนูนี้จะกำหนดให้สมาชิกตั้งเป้าหมายวันเกษียณอายุราชการ จากนั้นจึงเลือกใช้คู่ผสมสำคัญอย่างบริการออมเพิ่ม และบริการเลือกแผนการลงทุนซึ่งเป็น 2 บริการเด่นจาก กบข. มาช่วยคำนวณประมาณการเงิน กบข. ตามเป้าหมายวันเกษียณที่ตั้งไว้ โดยมีรายละเอียด 3 รูปแบบ ดังนี้

      

            รูปแบบที่ 1 My GPF “ประมาณการปัจจุบัน” เป็นการประมาณการเงิน กบข. ณ วันเกษียณของสมาชิก จากอัตราการออมเพิ่ม และแผนการลงทุนในปัจจุบัน คำนวณตามสมมติฐานต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกสามารถประเมินผลและพิจารณาวางแผนเกษียณที่เหมาะกับตนเองได้

            รูปแบบที่ 2 My Twin 1 “ลองเลือก ลองคำนวณ” เป็นคู่แฝดของสมาชิกที่ปรับได้ตามใจ โดยสมาชิกสามารถทดลองปรับอัตราการออมเพิ่ม และเลือกเปลี่ยนแผนการลงทุนได้เอง เพื่อเปรียบเทียบประมาณการเงิน กบข. กับ My GPF

             รูปแบบที่ 3 My Twin 2 “ลองดู รู้ทางเลือก” เป็นคู่แฝดของสมาชิกที่ กบข. จะออกแบบทางเลือกตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามระดับความเสี่ยงจากการลงทุนของสมาชิก

 

       หลังจากที่สมาชิกได้สร้างแบบจำลองหรือคู่แฝด My GPF & My GPF Twins ของตัวเองแล้ว ระบบจะแสดงหน้าจอเปรียบเทียบประมาณการเงิน กบข. ที่คาดว่าจะได้รับเมื่อเกษียณจากทั้ง 3 รูปแบบ เพื่อให้สมาชิกได้เห็นภาพวันเกษียณในอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยในหน้าสรุปนี้สมาชิกสามารถเปรียบเทียบยอดเงินปัจจุบันที่คาดว่าจะได้รับเมื่อเกษียณ และยังสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของยอดเงินจากทั้ง 3 รูปแบบ เพื่อประเมินดูว่าควรเลือกอัตราออมเพิ่มหรือเลือกแผนการลงทุนแบบไหนดีที่เหมาะกับตนเอง เพื่อจะมีโอกาสบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และขอย้ำว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงแบบจำลองที่เสมือนจริงซึ่งยังไม่มีผลต่ออัตราการออมเพิ่มและแผนการลงทุนจริงของสมาชิกหรือยังไม่มีผลกับเงินในบัญชีของสมาชิกแต่อย่างใด  

 

        และนี่คือเทคนิคดีๆ ของการบริหารเงิน กบข. ด้วยการเลือกแผนการลงทุน อย่างเข้าใจที่รวบรวมนำมาฝากคุณไว้ในบทความฉบับนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าจากนี้ไปไม่ว่าสมาชิกจะอยู่ในสถานการณ์ลงทุนแบบใด “ความรู้ ความเข้าใจ” ที่มีจะไม่ทำให้ตื่นตระหนกตกใจกับความผันผวนของตลาดลงทุนที่เกิดขึ้นในระยะสั้น เพราะรู้เป้าหมายการลงทุนของตนเอง รู้ระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ และรู้ว่าแผนการลงทุนแบบไหนเหมาะกับตนเอง ซึ่งนอกจากสมาชิกจะได้วางแผนการออมของตัวเองให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการเกษียณแล้ว คุณยังมีความสุขจากการที่ไม่ได้ปล่อยให้โอกาสในการทวีค่าเงินออมของตัวเองสูญเสียไปอย่างน่าเสียดายอีกด้วย