บริการสมาชิก
บริการดิจิทัล
แผนการลงทุน
ออมเพิ่ม
ออมต่อ
สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก
ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน
ความรู้คู่การออม
ปฏิทินกิจกรรม
วารสาร กบข.
แบบฟอร์มต่างๆ
คู่มือหรือมาตรฐานการให้บริการ
หน้าหลัก
ตำแหน่งที่เปิดรับ
กรอกใบสมัคร
สรุปผลการจัดซื้อ-จัดจ้าง
วิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง
ประกาศจำหน่ายทรัพย์สิน
MCS Web
แบบฟอร์ม
งาน กบข.
กิจกรรมต่าง ๆ
ภาพบริการสมาชิก

“วัยเกษียณ” ลงทุนอย่างไรให้เงินงอกเงย




           


การบริหารเงินออมให้งอกเงยสามารถทำได้ทุกช่วงชีวิต และไม่ได้สิ้นสุดลงเมื่อคุณเกษียณอายุราชการแล้ว แต่การลงทุนในวัยเกษียณนั้นมีความแตกต่างจากการลงทุนเพื่อการเกษียณ ตรงที่ไม่มีรายได้ประจำสำหรับนำมาลงทุนทุกเดือนเหมือนในวัยทำงานอีกแล้ว ซึ่งแม้ว่าข้าราชการจะได้รับเงินบำนาญรายเดือนตามสิทธิ์ แต่ทว่าเงินบำนาญก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกปีเหมือนเช่นเงินเดือน หลายคนจึงเริ่มมองหาวิธีที่สามารถทำให้เงินเก็บที่สะสมมาทั้งชีวิตงอกเงยต่อไปได้เพื่อให้มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกขณะ และเพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในวัยเกษียณของตนเอง ซึ่งบทความนี้มีแนวทางการลงทุนสำหรับคนวัยเกษียณรูปแบบต่างๆ มาฝากกัน   

 

แบ่งเงินเก็บหลังเกษียณให้เป็นสัดส่วน  

สำหรับสมาชิกที่ใกล้เกษียณ คุณควรเริ่มวางแผนการบริหารเงินเก็บที่คุณมี เช่น เงินออมที่มีกับ กบข. หรือเงินออมจากแหล่งอื่นๆ โดยแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้  


ส่วนที่ 1 เอาไว้เป็นเงินสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยลองประเมินดูว่าคุณน่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ต่อเดือน แล้วจึงประมาณการเป็นค่าใช้จ่ายรายปี เพื่อดูว่าเราต้องถอนเงินเก็บออกมาใช้มากเพียงใดต่อปี เพื่อจะได้นำเงินส่วนต่างไปบริหารจัดการในส่วนอื่นๆ ต่อไป 


ส่วนที่ 2 เอาไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ถึงแม้เราจะมีการทำประกันแบบต่างๆ ไว้แล้ว ทั้งประกันภัย ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ แต่ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เผื่อไว้ในกรณีที่เกิดเหตุเจ็บป่วยที่ประกันไม่ครอบคลุม หรือมีเหตุให้ต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่าที่คาดไว้ โดยควรเก็บเงินส่วนนี้ไว้แบบที่สามารถเบิกถอนได้ทันที เช่นการฝากออมทรัพย์หรือฝากประจำ 


ส่วนที่ 3 เอาไว้เป็นเงินสำหรับนำไปลงทุน คือเงินทั้งหมดที่หักลบเงินสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (ส่วนที่ 1) และเงินก้อนสำรองเผื่อฉุกเฉิน (ส่วนที่ 2) ออกไปแล้ว โดยนำไปแบ่งแยกตามพอร์ตการลงทุนของแต่ละเป้าหมาย นอกเหนือจากที่ต้องการต่อยอดทำให้เงินเก็บงอกเงย ก็อาจมีพอร์ตเพื่อการใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ การช่วยเหลือสังคม หรือเป็นมรดกสำหรับลูกหลานต่อไป 

 

เมื่อเราแบ่งสัดส่วนเงินสำหรับการลงทุน (ส่วนที่ 3) ออกมาได้แล้ว ในแต่ละพอร์ตการลงทุนควรมีลักษณะที่เหมาะสม เนื่องจากต้องให้ความสำคัญกับการรักษาเงินต้น และผลตอบแทนควรสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ โดยกระจายความเสี่ยงไปยังการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท มีการปันผล จ่ายดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ในแต่ละประเภทสินทรัพย์ควรกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมาย และระดับความเสี่ยงที่คุณเองสามารถยอมรับได้ ดังนี้ 

สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อให้มีเงินสดพร้อมใช้ สามารถเบิกถอนได้ในระยะเวลาสั้นๆ 

สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน กองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุน 

สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนรวมหุ้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุน 

 


ข้อควรระวังในการลงทุนหลังเกษียณ  

1. อย่าลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำจนเกินไป เพราะผลที่ตามมาคือผลตอบแทนที่ได้อาจไม่ชนะเงินเฟ้อหรือต่ำจนเกินไป เช่น นำเงินทั้งหมด 2 ล้านบาท ไปฝากออมทรัพย์ เพื่อให้ได้ดอกเบี้ย 0.75% ต่อปี เท่ากับว่าคุณจะได้ดอกผลเป็นเงิน 15,000 บาท ต่อปีเท่านั้น    


2. อย่าลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงจนเกินไปทั้งหมด เช่น นำเงินไปลงทุนหุ้นเก็งกำไร ลงทุนในตลาดอนุพันธ์ โดยควรกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงด้วย เช่น ตราสารหนี้ หรือพันธบัตรรัฐบาล เพราะผลที่ตามมาอาจผิดพลาดและทำให้ขาดทุนได้ 


3. อย่าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ เช่น ซื้อหุ้นกู้อายุ 10 ปี เพราะหากต้องการใช้เงินก็จะไม่สามารถถอนได้ในระยะเวลาที่ต้องการ 

ดังนั้น ในเมื่อเป็นเงินก้อนสุดท้ายของชีวิต เทคนิคการลงทุนหลังเกษียณจึงต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงสูง เพื่อเป็นการรักษาเงินต้นภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือการยินยอมรับความเสี่ยง เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมายการลงทุน ดังนั้น ผลตอบแทนที่ได้ในระยะยาว 5 ปีขึ้นไป จึงควรสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย 

 

นอกจากนี้ คุณยังสามารถเลือกใช้บริการออมต่อ กับ กบข. เพื่อเป็นทางเลือกการบริหารเงินหลังเกษียณของสมาชิก โดยสามารถแจ้งความประสงค์ “ออมต่อ” เพื่อให้ กบข. บริหารเงินต่อให้โดยไม่มีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการใดๆ และยังสามารถเลือกรูปแบบการรับเงินคืนได้ถึง 4 รูปแบบ ดังนี้ 

รูปแบบที่ 1 ออมต่อทั้งจำนวน คือ การที่สมาชิกแจ้งความประสงค์ให้ กบข. บริหารเงินออมที่ได้รับเมื่อออกจากราชการทั้งหมดต่อไป เหมาะกับสมาชิกที่ยังไม่มีแผนใช้เงินออมที่ได้รับเมื่อออกจากราชการ หากต่อมามีความต้องการใช้เงินก็สามารถแจ้งความประสงค์ในการนำเงินออมออกกับ กบข. โดยตรง   

รูปแบบที่ 2 ทยอยรับเงินเป็นงวดๆ คือ การที่สมาชิกแจ้งความประสงค์ทยอยขอรับเงินออมที่ได้เมื่อออกจากราชการเป็นรายงวด สมาชิกสามารถเลือกได้ว่าเป็นงวดรายเดือน ราย 3 เดือน ราย 6 เดือน หรือรายปี โดยแต่ละงวดต้องไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท เหมาะกับสมาชิกที่มีความต้องการใช้เงินอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ยังได้ผลประโยชน์ที่งอกเงยจากเงินออมในส่วนที่ กบข. ยังคงบริหารจัดการให้อยู่   

รูปแบบที่ 3 ขอรับเงินบางส่วน ที่เหลือให้ กบข. บริหารต่อ คือ การที่สมาชิกแจ้งความประสงค์ขอรับเงินออมที่ได้รับเมื่อออกจากราชการไปก่อนส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือให้ กบข. บริหารต่อ เหมาะกับสมาชิกที่มีแผนการใช้เงินเพียงจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือยังประสงค์ให้ กบข. บริหารจัดการต่อไป เพื่อสร้างผลตอบแทนต่อเนื่ 

รูปแบบที่ 4 ขอรับเงินบางส่วน ที่เหลือทยอยรับเงินเป็นงวดๆ คือ การที่สมาชิกแจ้งความประสงค์ขอรับเงินออมที่ได้รับเมื่อออกจากราชการไปก่อนส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือขอทยอยรับเป็นรายงวด โดยสมาชิกสามารถจะเลือกได้ว่าเป็นงวดรายเดือน ราย 3 เดือน ราย 6 เดือน หรือรายปี โดยแต่ละงวดต้องไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท เหมาะกับสมาชิกที่มีแผนการใช้เงินก้อนเพียงจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือทยอยใช้ ขณะเดียวกันก็ยังได้ผลประโยชน์ที่งอกเงยจากเงินออมในส่วนที่ กบข. ยังคงบริหารจัดการให้อยู่ 

 

หมายเหตุ: สามารถศึกษารายละเอียด และเงื่อนไขสำคัญของบริการออมต่อได้ที่ www.gpf.or.th 

 

ท้ายนี้การใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแค่เริ่มวางแผนและลงมือทำตั้งแต่วันนี้ มาเริ่มต้นสร้างสุขวันเกษียณในแบบที่คุณสามารถออกแบบได้ด้วยตนเองตั้งแต่วันนี้กันดีกว่า